X

สว.67 : เพิ่งเริ่ม! เลือก สว.รอบชิงดำ ‘สมชาย-ทนายตั้ม-ศรีวราห์-ผู้ว่าฯปู’ ได้ไปต่อ

กรุงเทพฯ – กว่าจะเลือกรอบชิงดำ ก็ค่ำแล้ว คนดังพาเหรดทั้งตกรอบ ทั้งได้ไปต่อ เลือก สว.ให้เหลือ 200 คน 

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 19.48 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประกาศเข้าสู่การเลือกรอบสุดท้าย (เลือกไขว้) จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือก ที่ผ่านรอบแรกมา 800 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ แบ่งเป็น 4 สาย สายละ 200 คน เพื่อเลือกให้เหลือ 200 คนเป็น สว. และคัดอีก 100 คนเพื่อสำรองไว้

สำหรับคนดังที่ผ่านเข้ามาถึงรอบนี้ อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส อดีตคณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก, นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม, พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร,

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต., พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4, นายชีวะภาพ ชีวะธรรม อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตหัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ส่วนคนดังที่ตกรอบ เช่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต สว.เลือกตั้ง จ.นนทบุรี, นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการ และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายฐานุพงศ์ ศักดิ์ธนาวัฒน์ หรือ น้ากล้วย เชิญยิ้ม, น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด

ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกแต่ละกลุ่ม จะได้เป็น สว. รอประกาศใน 6 วัน 
นายแสวง บุญมี แถลงสรุปภาพรวม หลังเสร็จสิ้นการเลือก สว.ระดับประเทศ รอบแรก ว่า การเลือก สว.ในรอบที่ 2 ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้ กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยจะลงคะแนนให้แก่ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองมิได้

ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาของกลุ่มนั้น ผู้ได้คะแนนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากัน จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 15 คน ให้ดำเนินการจับสลากเพื่อเรียงลำดับ กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากัน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้จับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับคะแนนในแต่ละลำดับ

เมื่อผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ได้รับประกาศผลการนับคะแนน จากกรรมการประจำสถานที่เลือกแล้ว จะดำเนินการจัดทำประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานให้ กกต.ทราบ เมื่อได้รับประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว กกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา และแจ้งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ทราบต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"