X

สว.67 : เร็วสุด 3 ก.ค. กกต.ประกาศรับรอง 200 สว. เร่งสอบโพยฮั้ว สอยทีหลังได้

กรุงเทพฯ – เลขาธิการ กกต.สรุปเลือก สว. มีเรื่องร้องเรียน 614 คำร้อง เตรียมประกาศผล ตั้งแต่ 3 ก.ค.เป็นต้นไป ย้ำ สอบแล้วสอยทีหลังได้ ยอมรับ ฮั้ว-บล็อกโหวต สืบยาก ปมเกิดจากระเบียบเก่าถูกยกเลิก ทำให้เกิดช่องโหว่

วันที่ 27 มิถุนายน 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปภาพรวมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย แม้ใช้เวลานาน โดยแจ้งผลคะแนน รวม 200 คน และสำรองอีก 100 คน ไปยัง กกต.แล้ว ตามมาตรา 42 ของ กกต. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาประกาศผล แต่ต้องรอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นวันไหน ถ้าเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ก็จะประกาศ

ส่วนการร้องเรียนนั้น สามารถร้องได้ที่ศาลฎีกา หากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับกรณีการเลือก ถ้าพบว่าไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ก็ร้องมายัง กกต.ได้ โดยขณะนี้มี 614 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคุณสมบัติ ให้ลบชื่อกว่า 400 คำร้อง คำร้องเรื่องความไม่สุจริต จ้างให้ลงคะแนน การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง

นายแสวง ยังกล่าวถึงข้อสังเกตและความผิดปกติ ของการลงคะแนน โดยยอมรับว่า ถ้าระเบียบเก่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นน้อย แต่เมื่อยกเลิกระเบียบไปแล้ว ก็ต้องมาดูกฎหมาย ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดหรือไม่ อย่างการบล็อกโหวต หรือ โพยบล็อกโหวต ไม่มีใครกล้าบอกว่าผิดกฎหมาย จึงต้องสืบและหาหลักฐานว่า มีการให้ผลประโยชน์กันจริงหรือไม่ และมีองค์ประกอบความผิดอย่างไร ซึ่ง กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดในทุกเรื่อง เช่น โรงแรมก็ต้องตรวจสอบว่ากลุ่มไหนเข้าไปพัก ใครจ่าย ใครให้เงิน เมื่อคะแนนเท่ากันหลายคน ก็เป็นข้อสังเกตให้ต้องสอบหาข้อเท็จจริง

สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว.เป็นกลุ่มคนของพรรคการเมืองใหญ่นั้น เลขาธิการ กกต.ระบุว่า มีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ต้องดูว่าผิดกฎหมาย หรือเข้าองค์ประกอบของกฎหมายหรือไม่ ส่วนรายงานพบความผิดปกติในห้องน้ำชาย พบว่า มีเรื่องการคุยกันในห้องน้ำจริง แต่ไม่มีใครจ่ายเงินกัน ถ้าจะจ่ายหลังจากจบก็ต้องไปสืบข้อมูลกันต่อ และคงไม่มีการส่งโพยกัน เพราะมีคนของ กกต.อยู่ในนั้น ถ้าทำโพยจริง ก็น่าจะทำมาจากบ้านแล้ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การตรวจสอบและสืบหาข้อเท็จจริงเรื่องเหล่านี้ ไม่ง่าย

กรณีร้องคะแนนขณะขานนับ กับคะแนนสรุป ไม่ตรงกันนั้น เท่าที่ทราบ ผู้สมัครไปขีดคะแนนเอง แล้วมาบอกว่าถูกหักหลัง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"