X

นิติเวช จุฬาฯ ยืนยัน ผลชันสูตร 6 ศพเวียดนาม พบ ‘ไซยาไนด์’ ตร.เร่งหาที่มา

กรุงเทพฯ – นิติเวช รพ.จุฬาลงกรณ์ ยืนยัน ผลชันสูตรศพชาวเวียดนาม 6 ศพ เสียชีวิตจากสารไซยาไนด์ แต่ไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย และไม่สามารถระบุได้ว่าใครเสียชีวิตก่อน-หลัง ด้านรอง ผบช.น.สั่งเร่งสอบหาที่มาของไซยาไนด์ เตรียมมาเองหรือซื้อในไทย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่อาคารแพทยพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมแถลงผลการชันสูตรศพชาวเวียดนาม ทั้ง 6 ศพ ที่ผู้เสียชีวิตในห้องพัก โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

โดย รศ.นพ.กรเกียรติ ซึ่งร่วมในการตรวจสถานที่เกิดเหตุด้วย ระบุว่า การชันสูตร ประเมินตั้งแต่ช่วงการตรวจพื้นที่เกิดเหตุที่โรงแรม ประเมินระยะเวลาการเสียชีวิตช่วง 12-24 ชั่วโมง จากการตรวจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการแข็งตัวของกล้ามเนื้อในร่างกาย หรือการตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือด พบว่าเป็นสีแดงค่อนข้างแดงสด และมีอาการคลั่งเลือดในอวัยวะภายใน ซึ่งแตกต่างจากเคสทั่วไปในการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เบื้องต้น ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย

สิ่งที่พบจากศพทั้งหก มีริมฝีปากสีม่วงเข้ม ใบหน้าและการตกเลือดเป็นลักษณะพิเศษ มีการบ่งชี้ว่า อาจจะมีการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจเกิดขึ้นร่วมด้วย คุณลักษณะที่พบอีกอย่างในการตรวจสอบ คือ การตกสูงเบื้องต่ำของเลือดพบว่า เป็นสีแดงค่อนข้างแดงสด และมีอาการคลั่งเลือดในอวัยวะภายใน ซึ่งแตกต่างจากเคสทั่วไปในการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของทุกราย เป็นการสันนิษฐานจากการตรวจพิษของสารอันตราย ผ่านระดับเซลล์ เข้าสู่ระบบประสาท และหัวใจ พบ ‘สารไซยาไนด์’ และมีการนำไปตรวจซ้ำ ผลเป็นบวก ทำให้แพทย์ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การเสียชีวิตอาจจะมีสารพิษดังกล่าว จึงจะต้องรอผลการตรวจเลือดยืนยันอีกครั้งอย่างละเอียด อาจจะใช้ระยะเวลา 1-2 วันต่อจากนี้ ว่ามีสารพิษชนิดอื่นด้วยหรือไม่

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ใครเสียชีวิตก่อนหรือหลัง หรือเสียชีวิตกี่โมง ปกติแล้ว การรับสารพิษไซยาไนด์ หากรับในระดับ 3 มิลลิกรัมต่อเลือด 1CC จะเสียชีวิตทุกราย แต่กรณีนี้ต้องดูจากผลเลือดอีกครั้ง การทำให้เสียชีวิต ต้องมีปริมาณที่สูงมากกว่า 3 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม การได้รับสารไซยาไนด์ ขึ้นอยู่กับปริมาณและวิธีการนำสู่ร่างกาย เช่น การสูดดม การดื่ม เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วมักเกิดอาการ เหนื่อย หอบ หมดสติ ชักเกร็ง นับเวลาเป็นนาที ล้มลง และเสียชีวิตเลย เนื่องจากขาดออกซิเจนเฉียบพลัน หรือบางคนได้รับปริมาณที่น้อย จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ใช้เวลานานกว่าจะเสียชีวิต

ขณะที่ พล.ต.ต.นพศิลป์ รอง ผบช.น. กล่าวถึงที่มาของสารไซยาไนด์ว่า ตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็น คือ เตรียมการนำเข้ามาก่อนเข้าประเทศไทย หรือหาซื้อในไทย ผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งได้สั่งการให้ตรวจสอบย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.67 ที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเริ่มเดินทางเข้าประเทศ ไปจนถึงวันที่ 12 ก.ค. พร้อมยอมรับว่า ขณะเดินทางผ่าน ตม.ไม่สามารถตรวจหาสารเหล่านี้ได้ และไม่สามารถยืนยันได้ว่า ใครเป็นผู้นำเข้า ต้องรอการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ ตำรวจจะนำรายงานผลการชันสูตรจากแพทย์ ไปประกอบในสำนวนต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"