กรุงเทพฯ – อธิบดีกรมประมง ร่ายยาวปมปลาหมอคางดำ เผย ระบาดแล้ว 16 จังหวัด เร่งใช้ 5 มาตรการ กำจัดการแพร่ระบาด คาด คุมระบาดได้ใน 3 ปี ยืนยัน ไม่พบข้อมูลเอกชนส่งกลุ่มตัวอย่างปลาที่นำเข้า
วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นำแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ร่ายยาวชี้แจงหลังเกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ หรือ ปลาเอเลียนสปีชีส์ หรือ ปลาปีศาจ โดยระบุว่า ขณะนี้ปลาหมอคางดำระบาดไปแล้ว 16 จังหวัด ทั้งการเดินทางไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และถูกขนย้ายโดยประชาชน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวประมง และปัญหาเชิงระบบนิเวศ จึงกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น รวมถึงตั้งคณะทำงานในพื้นที่ระบาด และพื้นที่กันชนป้องกันการระบาด
ปลาหมอคางดำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เมื่อปี พ.ศ.2549 มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ จากกรมประมง อย่างถูกต้อง และขออนุญาตอีกครั้ง ปี 2553 นำเข้ามาช่วงเดือน ธ.ค.2553 เพื่อปรับปรุงพันธุ์ ป้องกันโรค เลี้ยงทนเค็ม และเพิ่มผลผลิต จำนวนที่ได้รับอนุญาต ผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำสุวรรณภูมิ จำนวน 2,000 ตัว และไปสู่ฟาร์มเพาะเลี้ยง ที่ จ.สมุทรสงคราม
โดยมีกลไกควบคุมการนำเข้า ด้วยการตั้งคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพ กรมประมง และมีการกำหนดเงื่อนไข คือ 1.ต้องเก็บตัวอย่าง ครีบดอง ส่งให้กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด สำนักและวิจัยกรมประมงน้ำจืด และ 2.เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ให้รายงานผลการทดลอง หากการทดลองไม่เป็นผลให้ทำลายทั้งหมด โดยแจ้งกรมประมงเข้าตรวจสอบ
ข่าวน่าสนใจ:
- วธ.จัด“ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” น้อง“หมูเด้ง” Thai Cuteness ร่วมสร้างสีสัน
- "รัฐสภา" ร่วมสนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
- รมว.ท่องเที่ยว ชวนลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำฯ" สร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
อธิบดีกรมประมง แถลงอีกว่า สำหรับข้อกล่าวอ้างว่า บริษัทนำส่งตัวอย่างปลา 50 ตัว ให้คณะวิจัยคณะกรรมการฯ นั้น จากการตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่าง ในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่างและฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างและขวดตัวอย่าง จากบริษัทนำเข้า
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เป็นวาระสำคัญ ได้ตั้งคณะทำงาน 47 คน และตั้งคณะทำงานในพื้นที่ระบาด รวมถึงพื้นที่กันชนป้องกันการระบาด
ส่วนมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย
1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำทุกพื้นที่ ขณะนี้จับไปแล้วกว่า 1,000 ตัว เช่น ที่ จ.สมุทรสาคร ใช้อวนรุน ส่วนในกรุงเทพมหานคร เสนอจะใช้เครื่องมือนี้เช่นกัน สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ให้พิจารณาไปตามบริบท
2.การกำจัดปลาหมอคางดำ ด้วยการปล่อยปลานักล่าเพื่อควบคุมตามธรรมชาติ เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ให้ตรงกับบริษทของแต่ละพื้นที่ หรือถ้าเป็นน้ำจืด จำเป็นต้องใช้ปลาช่อนและปลากราย
3.การนำออกจากระบบและนำไปใช้ประโยชน์ อย่างปลาป่น เพื่อเป็นอาหารสัตว์ และแปรรูปเป็นอาหาร เพราะมีคุณค่าทางอาหารไม่ด้อยไปกว่าปลานิลและปลาหมอเทศ
4.การสำรวจ มีระบบการแจ้ง และเก็บข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้แพร่ระบาด
5.สร้างการรับรู้ และการตระหนักให้มีส่วนร่วม
รวมถึงการเสนอกฎหมาย ซึ่งจะมีทั้งโทษทางอาญา และโทษปกครอง ให้รับผิดชอบต่อสังคม
นายบัญชา สุขแก้ว กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขในระยะยาว จะนำโครงการวิจัย ‘การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4ก ในปลาหมอคางดำ’ ควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ สร้างปลาหมอคางดำพิเศษลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางคำปกติ ให้ได้ลูกเป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ คาดว่าจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมการระบาดในอนาคตได้ภายใน 3 ปี
ส่วนการรับซื้อปลาหมอคางดำนั้น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ อนุมัติให้กรมประมงเร่งจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ตามจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า พร้อมอนุมัติงบกลางรับซื้อในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วนอีกด้วย โดยจุดรับซื้อจะเป็นแพในชุมชน ใน 5 จังหวัดที่เป็นแหล่งชุกชุมจะมีจุดรับซื้อหลายจุด เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ผู้รับซื้อ ซึ่งจะมีทั้งโรงงานและหน่วยงานราชการ จะเริ่มได้ภายในสัปดาห์หน้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: