กรุงเทพฯ – ชัดเจนแล้ว ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เปิดประชาชนลงทะเบียน 1 ส.ค.-15 ก.ย.67 ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ส่วนคนไม่มีสมาร์ทโฟน 16 ก.ย.-15 ต.ค. ส่วนร้านค้าลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ต.ค. ใช้เงินได้ไตรมาส 4 ประชาชนซื้อของห้างไม่ได้ ใช้ได้เฉพาะร้านเล็ก ๆ ในอำเภอที่มีทะเบียนบ้าน
รัฐบาลสรุปความชัดเจน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เคาะกำหนดเวลาลงทะเบียน ทั้งในส่วนประชาชนและร้านค้า หลังเลื่อนและปรับโครงการมาหลายรอบ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลที่ล่าช้ามาถึง 10 เดือน ว่า เพื่อป้องกันความผิดพลาดและปัญหา ตามข้อเสนอแนะจากหลายหน่วยงานและผู้ที่เป็นห่วง จึงแก้ไขปรับเปลี่ยนตลอด โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมโคงการฯ 45 ล้านคน และเตรียมงบประมาณไว้ราว 450,000 ล้านบาท
มาทบทวนคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์ อัปเดตกำหนดเวลา และขั้นตอนการลงทะเบียน ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ
คุณสมบัติประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ
1.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
2.สัญชาติไทย
3.อายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียนคือวันที่ 15 ก.ย.2567
4.มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566 โดยกรมสรรพากรประมวลผลข้อมูลผู้มีรายได้ 7 วันก่อนเปิดการลงทะเบียน
5.ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันเกินกว่า 5 แสนบาท โดยจะตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝากและผลิตภัณฑ์เงินฝาก ที่อยู่ในรูปของเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม โดยกำหนดวันในการตรวจสอบสิทธิเงินฝาก 31 มี.ค.67
6.ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
7.ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิ์หรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการและโครงการอื่นๆ ของรัฐ
8.ไม่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการและโครงการอื่น ๆ ของรัฐ
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานนาฏศิลป์สยาม ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
เปิดลงทะเบียน
♦ ประชาชนทั่วไป (ที่มีสมาร์ทโฟน)
เริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.67 ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ซึ่งเป็นแอปฯ ศูนย์รวมบริการภาครัฐมากกว่า 152 บริการ (ซูเปอร์แอปฯ ของรัฐบาล)
♦ ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
จะเปิดให้ลงทะเบียน ตั้งแต่ 16 ก.ย.-15 ต.ค.67 ซึ่งจะสามารถใช้จ่ายโดยใช้บัตรประชาชน แต่การใช้สิทธิกลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดมากกว่า
1.จะต้องใช้กับร้านค้าที่เปิดบริการของสมาร์ทโฟนในขณะที่มีการแลกเปลี่ยนเท่านั้น เพราะจำเป็นจะต้องยืนยันสถานที่และเป็นการซื้อขายแบบเฟซทูเฟซ (ต่อหน้า)
2.ทุกครั้งที่ซื้อขายจะต้องบันทึกภาพของผู้ที่นำบัตรประชาชนไปใช้ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเจ้าของบัตรจริง
*** ลงทะเบียนด้วยสมาร์ทโฟน จะมีความสะดวกมากกว่า ***
♦ ร้านค้า
กำหนดวันลงทะเบียนเริ่มต้น ตั้งแต่ 1 ต.ค.67 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง
คาดว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านร้านค้า โดยแบ่งเป็น กลุ่มนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 910,000 ร้านค้า, กลุ่มร้านธงฟ้าและร้านอาหารธงฟ้าที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์อีกราว 198,000 ร้านค้า
ส่วนกลุ่มร้านค้าโชว์ห่วย หาบเร่ แผงลอย ร้านอาหาร ร้านตลาดนัด กลุ่มนี้ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งคาดว่าจะมีเข้ามาร่วมโครงการฯ อีกราว 400,000 ร้านค้า
กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกราว 93,000 ร้านค้า
ห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขึ้นทะเบียนกับสมาคมค้าปลีกไทยอีกราว 50,000 ร้านค้า
กลุ่มผู้ผลิต ห้าง ร้านค้าในเครือข่าย ร้านค้าในห้างฯ ซึ่งขึ้นทะเบียนกับสมาคมค้าปลีกไทย อีกกว่า 500,000 ร้านค้า
ใช้จ่ายได้เมื่อไหร่
เริ่มใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท ไตรมาส 4 ของปี 2567 (ตั้งแต่เดือน ต.ค.) โดยมีเงื่อนไขในการใช้จ่ายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
เงื่อนไขการซื้อสินค้า
♦ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็กลงไปเท่านั้น รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอที่มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านเท่านั้น! และต้องซื้อขายแบบพบหน้า ไม่สามารถซื้อออนไลน์ได้ โดยตรวจสอบ 3 อย่าง คือ
1.ที่อยู่ของร้านค้าที่ลงทะเบียนโครงการ ต้องอยู่ในอำเภอนั้น
2.ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะลงทะเบียนโครงการ ต้องอยู่ในอำเภอเดียวกัน
3.พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอ จึงจะถือว่าการชำระเงินสมบูรณ์
♦ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ ไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไข ว่าจะต้องเป็นแบบพบหน้า หรือสามารถซื้อขายสินค้าด้วยกันได้แม้อยู่ต่างพื้นที่
ประเภทสินค้าที่ซื้อได้
สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้าที่อยู่ใน Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชรพลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือสื่อสาร
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาปรับปรุงแก้ไขรายการสินค้าที่อยู่ใน Negative List ได้ ซึ่งการใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ ไม่รวมถึงการใช้บริการหรือภาคการบริการ
ขั้นตอนการลงทะเบียน-ยืนยันตัวตน
ผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เท่านั้น ทั้ง iOS และ Andriod
*** สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ให้ดาวน์โหลดแอปฯ ก่อน***
ระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) ให้เข้า App Store
ส่วนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ให้เข้า Google Play
♦ ยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’ มาก่อนวันที่ 1 ส.ค.67
♦ ลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ตั้งแต่ 1 ส.ค.- 15 ก.ย.67
♦ กดปุ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์
♦ กดยอมรับเงื่อนไขโครงการ 3 ข้อ คือ ผู้รับสิทธิ เงื่อนไขโครงการ และเงื่อนไขแอปพลิเคชัน
♦ กรอกหมายเลขบัตรประชาชน ชื่อที่อยู่
♦ ถ่ายรูป เพื่อส่งข้อมูลเข้าตรวจสอบกับทะเบียนราษฎร์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: