อีกหนึ่งความท้าทายในการก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่กำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในระบบไฟฟ้าตามเทรนด์พลังงานโลก เพื่อเดินหน้าประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน บนความผันผวน ไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy : RE) ระบบกักเก็บพลังงาน จึงนับเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้พัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบ ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped-Storage)’ มาทำหน้าที่สำรองพลังงานเสริมให้กับระบบไฟฟ้าในช่วงที่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ในทุกช่วงเวลา
‘อุ่นใจ’ แบตเตอรี่พลังน้ำ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นไฟฟ้าสะอาดจากพลังน้ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยถูกที่สุดเมื่อเทียบกับระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบอื่นๆ ผลิตไฟฟ้าด้วยหลักการเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วไป โดยจะปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่วนบน เพื่อหมุนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตพลังงานไฟฟ้าเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง น้ำที่ปล่อยออกมาจะถูกกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง เพื่อสูบน้ำกลับขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำส่วนบน สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าครั้งต่อไป โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจึงเปรียบเสมือนแบตเตอรี่พลังน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถนำน้ำมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างไม่มีวันหมด โดยไม่ส่งผลกระทบกับการใช้น้ำของประชาชน
‘ทันใจ’ สร้างความมั่นคง RE ได้ทัน เสิร์ฟไฟฟ้าได้เร็ว
นอกจากจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำแล้ว ยังสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาไม่ เกิน 15 นาที ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานหมุนเวียน ในเวลาที่แดดไม่มี ลมไม่พัด หรือในช่วงที่เกิดกรณีฉุกเฉินไฟฟ้าขาดหายไปจากระบบได้อย่างทันท่วงที
‘มั่นใจ’ ทำแล้ว ทำอยู่ และทำต่อ! เพื่อความมั่นคงพลังงาน
ปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์, เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
กฟผ. ยังมีแผนเดินหน้าพัฒนาโครงการฯ ที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 801 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2577, เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี ขนาดกำลังผลิต 819 เมกะวัตต์ COD ปี 2579 และเขื่อนกะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช COD ปี 2580 ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า มีระบบกักเก็บพลังงานเพียงพอที่จะรักษาความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของประเทศ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ คือ หนึ่งในเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เปรียบเสมือน ‘แบตเตอรี่พลังน้ำ’ เพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองที่สร้างความอุ่นใจ ทันใจ และมั่นใจ พร้อมสนับสนุนประเทศให้ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่เทรนด์อนาคต-สังคมคาร์บอนต่ำ ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: