กรุงเทพฯ – ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ ขณะที่คณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงทั้งคณะ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ 40 สว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุนสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ ‘ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) เหตุเป็นบุคคลที่กระทําการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
สำหรับคณะรัฐมนตรี ต้องสิ้นสุดลงทั้งคณะ
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ทันที และไม่สามารถรักษาการนายกฯ ได้อีก โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 จะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
ข่าวน่าสนใจ:
โดยคณะรัฐมนตรีเศรษฐา จะเป็น ครม.ชุดรักษาการ ไปจนกว่าจะมีนายกฯ คนใหม่ และแต่งตั้งฝ่ายบริหารชุดใหม่
คดีนี้ สมาชิกวุฒิสภา 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสอง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง เฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 เนื่่องจากลาออก สำหรับผู้ถูกร้องที่ 1 มีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญู
แคนดิเดตนายกฯ
สำหรับบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนใหม่ได้ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี สส.ในสภาฯ ไม่น้อยกว่า 5% หรือมี สส.เกิน 25 เสียงขึ้นไป ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ 7 คน จาก 5 พรรค ประกอบด้วย
♦ พรรคเพื่อไทย – น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค และนายชัยเกษม นิติสิริ สส.บัญชีรายชื่อ
♦ พรรคภูมิใจไทย – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค
♦ พรรครวมไทยสร้างชาติ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี (ยังไม่เคยลาออกจากบัญชีแคนดิเดตนายกฯ) และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค
♦ พรรคพลังประชารัฐ – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค
♦ พรรคประชาธิปัตย์ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรค
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: