กรุงเทพฯ – อ่านชัด ๆ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ระบุ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ 40 สว. ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
จากการนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามคำปรารถที่ว่า รัฐธรรมนูญนี้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงบัญญัติคุณสมบัติและ ลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98
ข่าวน่าสนใจ:
- บขส.เชียงรายเฉียว พ่วง หวิดตกเหว 48 ชีวิตระทึก เส้นทางนี้คือจุดเสี่ยงของภาคเหนือ
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน แด่ภรรยาอดีตนายกฯไปทอดถวาย ณ วัดตันตยาภิรม พระอารามหลวง
- มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เชิญชมการแสดงโขนฯ ตอน "พระจักราวตาร" 7 พ.ย.-8 ธค.นี้
- 'ราเชน' เตือน! 'นายกฯอิ๊งค์' ไม่ปรับตัว รบ.ไปไม่รอด มี 2 ทางเลือก ยุบหรือยึด
ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) กล่าวอ้างว่า ตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ชื่นบาน) เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหารทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัย
ข้อเท็จจริงปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 45992551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงาน ประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่๒ นำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาโดยที่รู้หรือควรรู้ว่าภายใน ถุงกระดาษดังกล่าวมีเงินสดอยู่ และผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยใน ลักษณะเป็นตัวการร่วม โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต)
การกระทำดังกล่าว เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน สั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ ฐานละเมิดอำนาจศาล ล้วนเป็นข้อเท็จจริง ที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไป
และสภานายความ เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลตามคำสั่งศาลฎีกาข้างต้น เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล ทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา และกระทบต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย
เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับ สภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ข้อ 6 และข้อ 18 ให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) กับผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง ออกจากทะเบียนทนายความ ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2567
ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) จึงไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) รู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)
ย่อมเป็นกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป
เปิดชื่อตุลาการฯ เสียงข้างมาก
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 คน ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5)
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 4 คน ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) นายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: