กรุงเทพฯ – สมาคมนักข่าวฯ-ไทยพีบีเอส ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แสดงความรับผิดชอบ หลังแสดงพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคาม-ใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน
วันที่ 16 สิงหาคม 2567 กรณีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แสดงอาการกราดเกรี้ยว ใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน โดยการตบศีรษะผู้สื่อข่าวอาวุโสหญิงสายทหาร ไทยพีบีเอส อย่างแรง จนเจ็บ หลังถูกถามเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความกังวล พฤติกรรมคุกคามสื่อ พร้อมเรียกร้องให้เกียรติผู้ปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่าย ข่มขู่ คุกคามสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จึงขอให้ พล.อ.ประวิตร แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ขอเตือนไปยังบุคคลใดก็ตาม พึงระมัดระวังการใช้อารมณ์รุนแรงชั่ววูบ อันอาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ และขอให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมคุกคามเหล่านี้ สิ่งสำคัญ ควรให้เกียรติผู้ปฏิบัติงานในแต่ละวิชาชีพ รวมถึงเคารพการทำหน้าที่ซึ่งกันและกันด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
ด้านไทยพีบีเอส ออกแถลงการณ์ พร้อมเรียกร้องให้ พลเอกประวิตร รับผิดชอบ เช่นกัน
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ออกแถลงการณ์ว่า
ตามที่เกิดเหตุการณ์ ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คุกคามด้วยการตบบริเวณศีรษะ ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังทำหน้าที่ติดตามสัมภาษณ์ที่ สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บ้านอัมพวัน) เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 และเป็นคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ต่อทางสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว
การตั้งคำถามด้วยถ้อยคำและท่าทีสุภาพ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ดังปรากฏในคลิปวิดีโอ ที่ถูกเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์นั้น ชัดเจนว่าเป็นการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวโดยสุจริต การถูกกระทำทางกายจากแหล่งข่าวเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และถือเป็นพฤติกรรมที่ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจ และความรู้สึกปลอดภัยของผู้สื่อข่าว-ช่างภาพ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกันนี้ด้วย
ส.ส.ท.มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม การคุกคามผู้สื่อข่าวครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ ส.ส.ท. ขอเรียกร้องให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แสดงความรับผิดชอบ และขอให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันหามาตรการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสื่อมวลชนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: