X

สิ้นตำนาน ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ ครูเพลงลูกกรุง จากไปด้วยโรคชรา วัย 91 ปี

กรุงเทพฯ – วงการบันเทิงสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2541 จากไปอย่างสงบด้วยโรคชราหลังเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลตำรวจ สิริอายุ 91 ปี

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายธานินทร์ อินทรเทพ นายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า นายชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 เสียชีวิตลงอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเวลา 02.23 น. หลังจากเข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อ 5 วันก่อนที่จะย้ายมารักษาต่อที่ โรงพยาบาลตำรวจ

นายธานินทร์ อินทรเทพ เปิดเผยด้วยว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ไปเยี่ยมนายชรินทร์ พบว่าสังขารโรยราไปตามกาลเวลา ตอนนี้กำลังประสานกับทางครอบครัว เรื่องการจัดงานศพ และจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป

ประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร
อาฉึ่ง ชรินทร์ นันทนาคร (ชื่อเดิม ชรินทร์ วัฒนธานินทร์)
เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2476 ทีจังหวัดเชียงใหม่ มีความสามารถมากมายเป็นทั้ง ศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ได้รับการยกย่องจาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพ.ศ.2541

ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา ส่งผลให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ ‘สังข์เงิน’ สาขาใช้ศิลปะสร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิม มีท่วงทำนองสูงต่ำเอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระชัดเจน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 1,500 เพลง

ประวัติการศึกษา
ระดับประถมศึกษา โรงเรียนดาราวิทยาลัย
มัธยมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร

เส้นทางวงการบันเทิง
ชรินทร์ นันทนาคร เริ่มฝึกหัดร้องเพลงกับ ครูไสล ไกรเลิศ และเริ่มร้องเพลงสลับละครเวที เรื่อง นางไพร เมื่อ พ.ศ.2492 ด้วยเพลงดวงใจในฝัน และเริ่มบันทึกแผ่นเสียงจำหน่ายเป็นครั้งแรกตามด้วยเพลง อิเหนารำพัน เมื่อ พ.ศ.2494 จากนั้นย้ายกลับไปเชียงใหม่ ทำงานที่บริษัทกมล-สุโกศล สาขาเชียงใหม่ ต่อมา สำนักงานใหญ่เรียกตัวมาทำงานที่กรุงเทพฯ แผนกบัญชี ต่างประเทศ และแผนกแผ่นเสียง

จากนั้น ทำงานเป็นเลขานุการกรม ที่องค์การยูซ่อม USOM

ผลงานเพลง
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุดของ ชรินทร์ นันทนาครอาทิ เพลงเรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย, เพราะขอบฟ้ากั้น ฯลฯ

ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจาก เพลงอาลัยรัก

ผลงานภาพยนตร์
ต่อมา ชรินทร์ นันทนาคร ผันตัวไปเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ.2508 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมด 19 เรื่อง โดยภาพยนตร์เรื่อง ‘รักข้ามคลอง’ ทำรายได้สูงสุด ขณะที่ ภาพยนตร์ ‘แผ่นดินแม่’ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม. แต่หลังจากนั้น ก็เลิกทำภาพยนตร์ไป เนื่องจากเบื่อ เพราะวงการภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า‘นันทนาคร’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง’ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ.2541

ชีวิตส่วนตัว
สมรสครั้งแรกกับ สปัน เธียรประสิทธิ์ น้องสาวของปองทิพย์ภรรยา สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ มีลูกสาวสองคน คือ ปัญญ์ชลี(เป็นมารดาของ ปวริศา เพ็ญชาติ หรือ แหวนแหวน) และ ปัญชนิตย์

ต่อมา ชรินทร์หย่าขาดกับสปัน และสมรสใหม่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ อดีตนางเอกภาพยนตร์ชื่อดัง มีลูกด้วยกัน 1 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"