‘พลังงานหมุนเวียน’ ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีของโลกในช่วงเวลานี้ เพราะภาวะโลกเดือดได้ส่งผลกระทบทั้งสภาพอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติไปทั่วโลก แต่พลังงานหมุนเวียนก็ไม่ใช่ทางเลือกเดียว ยังมี SMR ที่เป็นแหล่งพลังงานสะอาดแถมยังสามารถผลิตไฟฟ้าสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าได้อีกด้วย
เมื่อพูดถึง Small Modular Reactor : SMR หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก อาจฟังดูเป็นเรื่องใหญ่และใหม่มาก แต่แท้จริงแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลก เปิดใช้งานมายาวนานแล้วกว่า 70 ปี และใน 31 ประเทศทั่วโลก มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า 400 แห่ง
ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ปัจจุบันได้พัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง มีความยืดหยุ่น และความปลอดภัยสูง และวันนี้ เมื่อทิศทางของโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โรงไฟฟ้า SMR จึงกลายเป็นที่จับตามอง โดยคาดหมายว่า SMR จะเป็นทางออกของพลังงานสะอาดที่จะมาแทนที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต
ทำความรู้จักโรงไฟฟ้า SMR
SMR คือ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใช้ความร้อนที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันแทนการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ให้อยู่ในรูปแบบโมดูล ซึ่งมีกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ต่อโมดูล โมดูลเหล่านี้สามารถผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงาน จึงสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ง่าย นำไปติดตั้งในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดเวลาการก่อสร้างจากเดิมประมาณ 5-6 ปี เหลือเพียง 3-4 ปี
ที่สำคัญ คือ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถลดกำลังการผลิต โดยอาจสั่งเดินเครื่องทีละโมดูล หรือเพิ่มกำลังการผลิตโดยติดตั้งโมดูลเพิ่มเข้าไปได้ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนของการดูแลซ่อมบำรุงรักษา ยังสามารถเลือกเฉพาะโมดูลที่มีปัญหาได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดเดินเครื่องทั้งหมด
เทคโนโลยีใหม่ ปลอดภัย มั่นใจกว่าเดิม
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า SMR จึงถูกออกแบบมาให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยลดความซับซ้อนของระบบ ได้รวมอุปกรณ์สำคัญไว้ภายในเครื่องปฏิกรณ์ จึงช่วยลดการใช้ปั๊ม จำนวนท่อและข้อต่อต่าง ๆ ทำให้อุบัติเหตุที่เกิดจากการรั่วไหลของน้ำหรือสารระบายความร้อนลดลง และยังมีระบบป้องกันความปลอดภัยที่สูงขึ้น
ออกแบบเทคโนโลยีระบายความร้อน โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือพนักงานเดินเครื่องในการควบคุม แต่ใช้หลักธรรมชาติ เช่น แรงโน้มถ่วง การถ่ายเทความร้อน ทำให้โรงไฟฟ้าไม่เกิดความเสียหายแม้ไม่มีกระแสไฟฟ้าในระบบเลยก็ตาม นอกจากนี้ ขนาดของโรงไฟฟ้าที่เล็กลงยังส่งผลต่อรัศมีในการปล่อยสารกัมมันตรังสีเมื่อเกิดการรั่วไหล โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่ SMR มีรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร จึงสามารถทำแผนฉุกเฉินครอบคลุมภายในบริเวณรอบรั้วโรงไฟฟ้าได้ เชื้อเพลิงมั่นคง ใช้น้อยแต่ผลิตไฟฟ้าได้มาก ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน
SMR ใช้แร่ยูเรเนียมซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วโลกเป็นเชื้อเพลิงหลัก และใช้ในปริมาณที่น้อย การใส่เชื้อเพลิงเพียงครั้งเดียวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงไปอีกประมาณ 2 ปี และการเปลี่ยนเชื้อเพลิงแต่ละครั้ง จะเปลี่ยนเพียง 1 ใน 3 ส่วนของเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งต่างกับโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่ต้องป้อนเชื้อเพลิงตลอดเวลา SMR จึงสามารถผลิตไฟฟ้าเป็นโรงไฟฟ้าหลักช่วยรักษาความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
เทรนด์โลกสู่ทิศทางพลังงานไทย
เมื่อทั่วโลกตื่นตัวและหาทางออกของปัญหาโลกร้อนร่วมกัน แต่การเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ไม่สามารถพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียวได้ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP2024 จึงได้บรรจุ SMR ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรงไฟฟ้า เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ไปพร้อมกับความมั่นคงทางพลังงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้รักษาความมั่นคงด้านพลังงานไทย ได้สั่งสมประสบการณ์ศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาโดยตลอด นับเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา และยังเป็นส่วนหนึ่งใน คณะกรรมการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ ได้เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมโครงการ ค้นหาพื้นที่ศักยภาพ สรรหาเทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เตรียมความพร้อมรองรับ SMR ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ SMR ก้าวใหม่ของพลังงานสะอาดของไทยได้เกิดขึ้นจริง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: