X

ผลิตภัณฑ์อ้างช่วยประหยัดไฟ ไม่มีจริง! อย่าหลงเชื่อ! เสียเงินฟรี

3 การไฟฟ้า ร่วมกับ ปคบ. ปอท. และ สคบ. แถลงข่าวทลายเครือข่าย ผลิตภัณฑ์แอบอ้างสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าผ่านสื่อออนไลน์ หลอกลวงประชาชน ย้ำ อุปกรณ์ช่วยประหยัดไฟฟ้า หรือช่วยลดค่าไฟฟ้าในบ้านไม่มีจริง

23 ส.ค.2562 นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการองค์กรและสังคม การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. พร้อมด้วย นางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ-2 (ช.อสป-2.) ผู้แทน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกับตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แถลงข่าวการจับกุมทลายเครือข่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งแอบอ้างว่าสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 40-50% ผ่านเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ พร้อมแอบอ้างหน่วยงานรัฐหรือผู้มีชื่อเสียง มาตัดต่อโฆษณาชวนเชื่อสร้างความน่าเชื่อถือหลอกลวงประชาชน ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อ ถูกหลอกลวงสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ภายหลังจาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ร่วมแจ้งความดำเนินคดี เอาผิดผู้ที่แอบอ้างหลอกลวงขายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้ากับ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2562
พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผบก.ปคบ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21-22 ส.ค. ตำรวจชุดปฏิบัติการ ร่วมกันสืบสวนติดตามกลุ่มขบวนการผู้กระทำผิดจนพบ และเข้าตรวจค้นสถานที่ 2 แห่ง ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ และ อ.พานทอง จ.ชลบุรี พบว่ามีผู้เกี่ยวข้อง 3 คน เป็นคนไทย 2 คน ทำหน้าที่บรรจุและส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า และอีกคนสัญชาติเวียดนามเป็นเซลล์ขายสินค้า มีนายทุนอยู่ที่ประเทศเวียดนาม ผลการตรวจค้นพบสิ่งของต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ

ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า Power Factor พร้อมกล่องบรรจุ 74 ตัว  ฝาครอบผลิตภัณฑ์เครื่องประหยัดไฟฟ้า Power Factor Saver  ตัวเครื่องเปล่าผลิตภัณฑ์เครื่องประหยัดไฟฟ้า Power Factor Saver  กล่องเปล่าบรรจุผลิตภัณฑ์  กล่องส่งพัสดุ  เทปกาวใส  วัสดุกันกระแทก  พร้อมเอกสารสำคัญส่งสินค้าและใบเสร็จรับเงิน 1 ชุด  สมุดบัญชีซื้อขาย 7 เล่ม  และเอกสารอื่น ๆ อีกจำนวนมาก รายการสิ่งของที่ตรวจพบนี้ ฉลากสินค้ามีแต่ข้อความภาษาอังกฤษ ไม่มีข้อความภาษาไทย

ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการตรวจค้นทั้ง 2 แห่ง พบว่า มีการจำหน่ายเครื่องประหยัดไฟฟ้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เฉลี่ยวันละประมาณ 100 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 999 บาท ดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 ปี มีรายได้รวมกว่า 50 ล้านบาท

เจ้าหน้าที่นำสิ่งของทั้งหมดที่ยึดได้ ส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เพื่อตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"