X

ฟื้นฟูชุมชนยกระดับเศรษฐกิจ ‘บางหว้า-บางหลวง’ ด้วยกฎบัตรบางหว้า

กทม. – รัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมฟื้นฟู-พัฒนา ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ‘บางหว้า-บางหลวง’ ด้วยกฎบัตรบางหว้า 

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ รักษาการประธานกฎบัตรแห่งชาติ เปิดเผยหลังสำรวจชุมชนคลองบางหลวงและชุมชนใกล้เคียงว่า คณะกรรมการกฎบัตรแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร  บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด  บริษัท กรุงเทพพัฒนาเมือง จำกัด  พร้อมด้วย สมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ จัดทำ ’กฎบัตรบางหว้า’ มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูระบบทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้ทุกภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนชุมชน ปราชญ์ในพื้นที่ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการค้า ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาบางหว้าในอนาคต และการกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจที่จะเป็นแหล่งการทำงานของประชาชนในอนาคต
การสำรวจข้อมูลเบื้องต้น เริ่มจากสถานีบางหว้า ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าเดียว ใน กทม.ที่เชื่อมต่อ BTS และ MRT ใน Platform เดียวกัน และยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางเรือบางหว้า จึงถือเป็นเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่ง “ล้อ ราง เรือ” อย่างสมบูรณ์

สำหรับสภาพแวดล้อมชุมชนนั้น สำรวจจากเส้นทางการเดินเรือ พบความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่สองข้างคลอง น้ำคุณภาพน้ำดี มีสถาปัตยกรรมสวยงามสองข้างทาง ทั้งบ้านเรือน วัด ที่ผสมผสานกับอาคารสมัยใหม่ ชุมชนมีเรื่องราว เรื่องเล่า ในยุคสมัยต่าง ๆ สามารถส่งเสริมเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้
นายพรนริศ ชวยไชยสิทธิ์ สรุปว่า การสำรวจพื้นที่ 3 ชุมชนหลัก ได้แก่ ชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนิมมานนรดี ชุมชนตลาดพลู และชุมชนคลองบางหลวง มีความต้องการการพัฒนาที่แตกต่างกัน สามารถใช้ชุมชนทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นย่านย่อยที่จะเสนอแนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองของกฎบัตรบางหว้าได้ ดังนี้

1.ชุมชนวัดนิมมานรดี ตั้งอยู่บนคลองภาษีเจริญ ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบันชุมชนริมน้ำค่อนข้างซบเซา โดยเฉพาะหลังน้ำท่วม ปี 2554 ทำให้พ่อค้าแม่ค้าย้ายออกจากตลาดน้ำ เหลือแต่ผู้สูงอายุและชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนเท่านั้น  คณะทำงานกฎบัตร มีแนวคิดฟื้นฟูกิจกรรมตลาดน้ำให้กลับมามีชีวิต มุ่งเน้นให้ลูกหลานและชาวบ้านในพื้นที่กลับมาอยู่อาศัย และประกอบกิจการได้ มากกว่าการส่งเสริมนักลงทุนหรือผู้ประกอบการจากภายนอก เพื่อรักษาทั้ง Tangible and intangible Value และปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่มีความเสื่อมโทรมเกิดพื้นที่กิจกรรม เช่น การเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำอาหารไทยให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

2.ชุมชนตลาดพลู ตั้งอยู่บนถนนเทอดไท ฝั่งธนบุรี เป็นย่านอาหารขึ้นชื่อของกรุงเทพฯ และได้รับเลือกเป็น “ตลาดต้องชม” ที่เป็นจุดสบกันของคลองใหญ่ 3 สาย คือ คลองบางหลวง คลองสนามชัย และคลองภาษีเจริญ ซึ่ปัจจุบันการจราจรบนท้องถนนหนาแน่น และไม่มีที่จอดรถ จึงมีแนวคิดจะส่งเสริมการเดินทางทางเรือ พร้อมสร้างการเชื่อมต่อจากสถานีและจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ

3.ชุมชนคลองบางหลวง (บ้านศิลปิน) เป็นชุมชนที่ยังเห็นวิถีชีวิต และที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิม  นอกจากความร่วมมือของคนในชุมชน การตั้งอยู่ของบ้านศิลปิน ยังช่วยสร้างความเคลื่อนไหวของกิจกรรม และกลุ่มผู้มาเยือน ที่หลากหลาย ทั้งนักท่องเที่ยว นักเรียน ครอบครัว และเกิดกิจการสนับสนุนอื่น ๆ รอบพื้นที่ เช่น Hostel สามารถเป็นตัวอย่างของการฟื้นฟู ให้ย่านอื่น ๆ ได้

รักษาการประธานกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ คณะทำงานมีความคิดเห็นว่า จะขยายขอบเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมชุมชนที่มีเอกลักษณ์ และกลุ่มธุรกิจเอกชน เพื่อให้ Stakeholders สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดย

– ขอบเขตทางตะวันตก จะขยายไปจนถึง The Mall บางแค (จากขอบเขตเดิม คือ Seacon Square) เพื่อดึงกลุ่ม The Mall เป็นกลุ่มนักลงทุน– ขอบเขตทางตะวันออก จะขยายไปถึงตลาดพลู (จากขอบเขตเดิมคือบริเวณวัดปากน้ำภาษีเจริญ) เพื่อให้ตลาดพลูเป็นพื้นที่อาหารพื้นถิ่น

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ย่านบางหว้า ทีมงานของกรุงเทพธนาคม ศึกษาหลายโครงการที่สามารถนำมาเป็นข้อมูลฐานสำคัญในการพัฒนาย่านได้ เช่น โครงการพัฒนาย่านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมฝั่งธนบุรี (บางหว้า ตลาดพลู วัดกำแพง)  โครงการ Linking Bangkok’s Canals Networks to Mass Rapid Transit Lines ศึกษาศักยภาพและการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีบางหว้า

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"