ข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ มีมากกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้รวมกัน โดยจังหวัดสงขลา มีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในภาคใต้ รองลงมา คือ จังหวัดภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี ซึ่งในอนาคต ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะยังคงมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ผ่านมา ต้องอาศัยแหล่งผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางส่วนหนึ่ง เพื่อเสริมความมั่นคงให้ด้านไฟฟ้า
ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ และสนองความต้องไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น มีกำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ชุดที่ 1 ในปี พ.ศ.2570 และชุดที่ 2 พ.ศ.2572โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในพื้นที่เดิมของ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 78 ไร่ ตำบลเขาหัวควาย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบันถูกปลดออกจากระบบแล้ว เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่ และระบบสายส่งไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 เป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) ผลิตไฟฟ้าจากเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ ร่วมกับกังหันไอน้ำ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง มีขนาดชุดละ 700 เมกะวัตต์ รวมแล้วมีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ ที่ขนาดกำลังติดตั้งสูงสุด ประมาณ 1,660 เมกะวัตต์ โดยไม่ปล่อยมลสารทางอากาศ เกินกว่าค่ามาตรฐานที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนด
โครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ในระยะยาว ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ลดความเสี่ยงไฟฟ้าดับ และลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ผ่านสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงมาจากภาคกลางแล้วนอกจากนี้ ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ยังจะได้รับผลประโยชน์จาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ทั้งการพัฒนาท้องถิ่น อาชีพ การศึกษา สุขภาพอนามัย และการดูแลสิ่งแวดล้อม แบบยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: