ธรรมชาติเป็นสมบัติของโลก สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะพืช สัตว์ หรือมนุษย์ มีสิทธิ์เข้าถึง ใช้ประโยชน์ และสัมผัสความงดงามได้อย่างเท่าเทียม แตกต่างกันเพียงประโยชน์ใช้สอย หลายครั้งเป็นลมหายใจ เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค ยานพาหนะ หรือแม้กระทั่งเป็น “แสงสว่าง”
ประเทศไทยก็เช่นกัน ธรรมชาติได้มอบ “แสงสว่างใต้ผืนดิน” ให้เป็นของขวัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2460) มีการสำรวจและค้นพบแหล่งถ่านหินลิกไนต์ขนาดใหญ่ ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หรือ “แอ่งแม่เมาะ” มีปริมาณถ่านหินลิกไนต์สูงถึง 120 ล้านตัน สามารถขุดขึ้นมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้อย่างคุ้มค่า ประมาณ 43.6 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับไม้ฟืน 3 ล้านลูกบาศก์เมตร หมายความว่า สามารถลดการตัดต้นไม้ลงได้ถึง 30,000 ไร่ ลดการนำเข้าน้ำมันเตาจากต่างประเทศได้มากกว่าปีละ 35 ล้านลิตร และก่อกำเนิดแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศอย่าง “เหมืองแม่เมาะ” มาจนถึงปัจจุบัน
เหมืองแม่เมาะ ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ เปรียบเสมือน “แสงสว่างใต้ผืนดิน”
ถ่านหินจำนวนมหาศาล ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ถูกขุดขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ภายใต้การดูแลของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังภาคต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาสมดุลราคาค่าไฟฟ้าของประเทศ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากถ่านหินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ
กว่าจะมาเป็น “เหมืองแม่เมาะ” ในวันนี้ ผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่ามากมาย แต่อีกไม่ถึง 30 ปี เหมืองแม่เมาะจะกลายเป็นเพียงตำนาน จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ ปริมาณถ่านหินลิกไนต์ที่จะสามารถขุดนำขึ้นมาใช้ได้ จะหมดลงภายใน 25 ปี หลังจากนั้น จะต้องดำเนินการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ทั้งหมดอย่างเหมาะสม เพื่อให้แก่ชุมชนและชาวบ้าน อ.แม่เมาะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ อย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพของเหมืองกว้างสุดลูกหูลูกตา สายพานลำเลียงถ่านหินอันยาวเหยียด พร้อมบรรดารถยักษ์และเครื่องจักรขนาดใหญ่จะหายไป กลายเป็นเพียงภาพในความทรงจำเท่านั้น
หลายปีที่ผ่านมา กฟผ.ได้ฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะ ควบคู่ไปกับการดำเนินการทำเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปลูกต้นไม้และบำรุงรักษาบริเวณสวนและสนามต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่ ให้ธรรมชาติคืนกลับมาเท่ากับ หรือมากกว่าเดิม ปัจจุบันเริ่มศึกษาแนวทางการฟื้นฟูเพิ่มเติมไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย
การพัฒนา กฟผ. แม่เมาะ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี จากเดิมที่ท่องเที่ยวได้เฉพาะฤดูหนาว
การใช้จุดแข็งทางกายภาพของพื้นที่ พัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และการพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับทดแทน รูปแบบเดียวกับโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา
ปัจจุบัน กฟผ.ปลูกป่าทดแทนแล้วเสร็จไปกว่า 11,000 ไร่ จากทั้งหมด 24,000 ไร่ ตามแผนการฟื้นฟู ส่วนใหญ่จะเป็นพืชพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับยืนต้นหลากหลายสายพันธุ์ เช่น อินทนิล ราชพฤกษ์ เสลา ตะแบก พิกุล ฯลฯ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชใช้สอย พืชกินได้ พืชหายาก และพืชท้องถิ่น ที่ชุมชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ เช่น สัก มะขามเทศ ขี้เหล็ก บานไม่รู้โรย บัวดิน ว่านสี่ทิศ นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับกักเก็บน้ำ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย โดย กฟผ. แม่เมาะ มีโครงการก่อสร้างสวนรุกขชาติแห่งใหม่ ซึ่งจะรวบรวมพันธุ์ไม้ที่ใช้ในการฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะทั้งหมดไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนและนักท่องเที่ยว
กฟผ.ตั้งใจพัฒนาพื้นที่และปรับภูมิทัศน์ เพื่อพัฒนา กฟผ. แม่เมาะ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน และความสวยงามของธรรมชาติ ของ อ.แม่เมาะ ทั้งทุ่งดอกบัวตอง สวนเฉลิมพระเกียรติเหมืองแม่เมาะ ลานสไลเดอร์ ซึ่งช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วย แต่การจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวตลอดทั้งปีได้นั้น จะต้องสร้างความโดดเด่น หรือกิมมิค บางอย่างขึ้นมา เพื่อเสริมปัจจัยทางการตลาด อย่างทุ่งดอกไม้สีสันสวยงาม สวนไม้ดอกหลากสี หรืออุโมงค์ต้นไม้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างสวนดอกไม้ในเหมืองแม่เมาะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะปัจจัยทางสภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพดิน ระบบน้ำ อากาศที่ร้อนจัด พืชหรือดอกไม้ชนิดใดจะสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีความทนทาน สวยงาม และเข้ากับสภาพแวดล้อมของเหมืองได้ เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดอย่างรอบคอบ จึงเป็นที่มาของกิจกรรม นำเครือข่ายการสื่อสาร ศึกษาดูงานเหมืองแม่เมาะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย กฟผ. เชิญคณะนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกพืช และด้านภูมิสถาปัตย์ มาศึกษาดูงาน เพื่อให้ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับภูมิทัศน์ สำหรับรองรับการท่องเที่ยวแม่เมาะตลอดทั้งปี เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
คณะอาจารย์ต่างตื่นตาตื่นใจกับภาพที่เห็นตรงหน้า เพราะช่วงหน้าฝน อากาศไม่ร้อนจัด ฝุ่นควันเบาบางลง ต้นไม้สีเขียวชอุ่ม ฝูงผีเสื้อและแมลงที่ออกมาบินโฉบเฉี่ยว คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือน ทุกท่านยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า แตกต่างจากภาพที่จินตนาการไว้ก่อนมาอย่างสิ้นเชิง
“มันไม่ใช่แค่การฟื้นฟูเหมืองหรือการปลูกป่าเท่านั้น แต่พี่รู้สึกว่ามัน คือ การสร้างจิตวิญญาณ” รศ.ดร.พัชรียา บุญกอ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกระบวนการฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะ หลังจากการศึกษาดูงานฯ
รศ.ดร.พัชรียา บุญกอ กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะของ กฟผ.นี้ ทำให้รับรู้ได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่ กฟผ.อยากจะทำให้พื้นที่ตรงนี้ ยังคงสภาพของความเป็นธรรมชาติให้เหมือนเดิมมากที่สุด รวมทั้งให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชุมชน คำนึงถึงการมีอาชีพ มีรายได้ เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะการฟื้นฟูนั้น ไม่ใช้เพียงแค่จะปลูกอะไรก็ปลูก แต่ต้องคิดว่า หลังจากเหมืองแม่เมาะปิดตัวลง ชุมชนจะได้รับประโยชน์อะไร จะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร
ด้าน รศ.ดร.อลิศรา มีนะกนิษฐ หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร บอกว่า ประทับใจแนวคิด เรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีคืนให้แก่ชุมชน การฟื้นฟูสู่ความยั่งยืน และการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของ อ.แม่เมาะ โดยเฉพาะการนำพืชพื้นถิ่นมาปลูก ถือเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชของท้องถิ่น ช่วยผสมผสานระบบนิเวศตามธรรมชาติ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วย แต่แนะนำให้คัดเลือกพืชที่มีความทนทาน และเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมของเหมือง เพราะบำรุงรักษาง่าย และช่วยประหยัดงบประมาณ
ผศ.ดร.เบญญา มะโนชัย อาจารย์ประจำคณะเกษตร บอกว่า ในฐานะลูกหลานชาวลำปาง รู้สึกประทับใจ กฟผ. ที่พยายามฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแม่เมาะให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เนื่องจากชุมชนได้เสียสละทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว แนะนำว่า อยากให้ฟื้นฟูพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสวนสาธารณะ ที่ประชาชนชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
ขณะที่ ดร.ดวงพร บุญชัย นักวิจัยของห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ระบุว่า กฟผ. ดูแลสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ทั้งการควบคุมมลภาวะด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ระบบน้ำ การปรับสภาพดิน การปลูกป่าทดแทน โดยเฉพาะการเลือกพันธุ์ไม้ที่มีความหลากหลาย หลากสีและสวยงาม ภาพรวมทั้งหมดทำได้ดีอยู่แล้ว
แน่นอนว่า การฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะ ไม่ใช่แค่การปลูกป่า แต่มันคือ กระบวนการปลูกจิตวิญญาณกลับคืนสู่ผืนดิน ผืนป่า ผืนน้ำ และวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและประโยชน์อย่างสูงสุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: