X

ทำไมต้องผลิตไฟฟ้าจาก “โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ”

จากการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการใช้พลังงานทั่วโลก รวมถึงไฟฟ้า จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในอีกเกือบ 40 ปีข้างหน้า และในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 จะมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า  ขณะที่พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ล้วนเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป จึงนำมาซึ่งการพัฒนาใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด ที่สามารถใช้งานได้นาน เพราะแหล่งกำเนิดพลังงานมาจากธรรมชาติ ที่ใช้ไม่มีวันหมด เช่น แสงอาทิตย์ ลม และน้ำ

รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน ได้วางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของชาติ ในการพัฒนาและผลักดันการใช้พลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงาน ที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานของคนไทย มาปรับใช้อย่างสอดรับกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคต

นวัตกรรมพลังงานสะอาด “โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ”

“โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ” เป็นหนึ่งในโครงการที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ดำเนินการ ด้วยคำนึงถึงความสำคัญของ การพัฒนานวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน พร้อมสร้างเสถียรภาพให้พลังงานหมุนเวียน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทัดเทียมกับพลังงานหลัก เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ และให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างมั่นคง เพียงพอ 
“โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ” คือ การนำแผงโซลาร์เซลล์ มาติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ  โดยนำเทคโนโลยีไฮบริด เข้ามาควบคุมการผลิตไฟฟ้า เป็นการผสมผสานระหว่าง พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาเซลล์บนทุ่นลอยน้ำ ผลิตไฟฟ้าในเวลากลางวัน ร่วมกับพลังน้ำจากเขื่อน ผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือในช่วงเวลากลางคืน เทคโนโลยีไฮบริด จึงช่วยเสริมให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง 2 ประเภท ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งมีข้อดี คือ การติดตั้งบนผิวน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีไฮบริด ซึ่งผสานพลังแสงอาทิตย์และพลังน้ำ เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้า เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
สำหรับโครงการนำร่องโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดแห่งแรก อยู่ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในเดือนธันวาคม 2563  ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย  ทั้งนี้ กฟผ.ยังเตรียมดำเนินโครงการ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด ที่เขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. อีกหลายแห่ง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"