อาเซียน มีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 รับรองรายงานการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติประเทศไทย สู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF)
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษา คณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) , นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการ สคช. และนายพุทธิกร รัชตะทรัพย์ ส่วนงานความร่วมมือ สคช. เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุม คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ครั้งที่ 7 และการประชุมเชิงปฏิบัติการ (The Seventh AQRF Committee Meeting and Workshop) ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2562 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
โดยมีระเบียบวาระสำคัญ ของประเทศไทย คือ การรับรองรายงานการเทียบเคียง ‘กรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทย (National Qualification Framework)’ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualification Reference Framework) หรือ AQRF
ซึ่งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน มีมติเอกฉันท์ 9:0 (ประเทศไทยงดออกเสียง) รับรองรายงานการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทย สู่ กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน โดยคณะทำงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้กำหนดขั้นตอนและกระบวนการ อย่างละเอียดในการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้่งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดทำข้อมูล ตามเกณฑ์ 11 ข้อ ที่คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกำหนด
การเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน จะส่งผลต่อการหมุนเวียนกำลังคน ทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงกำลังคนในสายอาชีพ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มโอกาสมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศสมาชิก
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมนำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ที่ได้ดำเนินการเทียบเคียงแล้วนั้น มาใช้ดำเนินการ เพื่อให้ทุกประเทศเชื่อมั่นในการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพจาก สคช. ว่าสามารถเทียบเคียง และเป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียน สคช.ยังพร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และยกระดับสมรรถนะกำลังคน อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เพราะ”สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่นี่มืออาชีพ”
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ 11 ข้อ ของคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน มุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การส่งเสริมให้เกิดการรับรองคุณวุฒิ กระตุ้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาไปสู่การเรียนรู้ตามอัธยาศัย สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้เรียนและแรงงาน สร้างความเข้าใจที่ดีด้านระบบคุณวุฒิในทุกมิติ ตลอดจนการส่งเสริมให้ระบบคุณวุฒิมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจในการรับรองคุณวุฒิต่างๆ ทั้งในภาคการศึกษาและแรงงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: