กรุงเทพฯ – กฟผ.แม่เมาะ รับใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ หวังเป็นเมืองอัจฉริยะ 3 Smart คือ Smart Environment, Smart Energy, Smart Economy
นายพลศรี สุวิศิษฏ์อาษา ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการขับเคลื่อน การดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. และพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (Mae Moh Smart City) และนายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ร่วมรับใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ในโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในงานสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติ Digital Thailand Big Bang 2019 เมื่อ 31 ตุลาคม 2562
นายพลศรี สุวิศิษฏ์อาษา เปิดเผยว่า เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกัน ในทุกภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Mae Moh Smart City) เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน จึงได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด ชุมชนชาวแม่เมาะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนา “โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่” ที่มีการบริหารจัดการด้านพลังงาน และด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งหนึ่งของประเทศในอนาคต
ด้านนายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ ระบุว่า ดีใจและภูมิใจแทนชาวแม่เมาะ ที่ กฟผ.ให้ความสำคัญ ในการริเริ่มแนวนโยบายที่ดีและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวแม่เมาะ อาทิ สนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการทำเกษตรกรรม เพื่อสร้างรายได้ที่คาดการณ์ได้ การบริหารจัดการฝายชุมชน สร้างสตาร์ตอัพเพื่อผู้สูงอายุ ทดลองใช้แพลตฟอร์ม ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ในการทำกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมกับ กฟผ. เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวแม่เมาะ
การดำเนินโครงการพัฒนา Mae Moh Smart City ภายใต้โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กำหนดแผนการพัฒนาเมืองระยะเวลา 20 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในอำเภอแม่เมาะ ภายใต้กรอบศาสตร์พระราชาและ Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อพัฒนาภายใต้แนวทาง 3 Smart ได้แก่ Smart Environment, Smart Energy และ Smart Economy ซึ่งประกอบไปด้วย Smart Agriculture และ Smart Tourism ให้ชุมชนมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนด้วยชุมชนเองได้ สำหรับแผนระยะยาว เมื่อการพัฒนาเมืองใน 3 Smart แล้ว จะมีการขับเคลื่อน Smart People, Smart Mobility, Smart Governance และ Smart Living ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: