ศรีสะเกษ-องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสิทธิเด็กสากล และประเทศไทยตระหนักถึงสิทธิด้านการมีส่วนร่วมของเด็ก จึงได้จัดงานเวทีสิทธิเด็กขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดประเด็นการจัดงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละปี เพื่อให้เด็กได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะ/ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านเด็กต่อไป
ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งเป็นตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2535 เป็นต้นมา อนุสัญญาอยู่บนรากฐานของสิทธิมนุษยชน คือ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในเรื่องเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพ โดยยึดหลักการ คือ การไม่เลือกปฏิบัติ ประโยชน์สูงสุดของเด็ก สิทธิที่จะมีชีวิต อยู่รอด และได้รับการพัฒนา และการมีส่วนร่วม เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาแล้ว ประเทศไทยต้องดำเนินการตามพันธะผูกพันต่างๆ ตามบทบัญญัติของอนุสัญญาและพิธีสารเลือกรับ 4 ด้าน คือ การอยู่รอด การพัฒนา การปกป้องคุ้มครอง และการมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนกลุ่มเด็กและเยาวชนของจังหวัดศรีสะเกษ
คือ สมาพันธ์เด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มเยาวชนกล้าลำดวนจังหวัดศรีสะเกษ และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 28 ณ โรงแรมอินทรารีเจนท์ กทม. และอาคารห้องประชุมรัฐสภา
โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย จัดงานเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 28 หัวข้อ “Every child can be a HERO : เราทุกคนก็เป็นฮีโร่ได้” ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้และเข้าใจ เรื่องความรุนแรงไม่เป็นผู้ส่งต่อความรุนแรง และสามารถปกป้องดูแลตนเองและบุคคลรอบข้างจากความรุนแรงได้ รวมถึงมีช่องทางในการรายงานและขอความช่วยเหลือเมื่อพบเห็นหรือประสบเหตุความรุนแรง
ทั้งนี้เด็กทั่วทั้งประเทศได้มีข้อตกลงร่วมกันในการที่จะช่วยกันยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยได้มีการประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้ 1.เราจะตระหนักรู้ถึงโทษ และพิษภัยของความรุนแรงทุกรูปแบบ ด้วยการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เคารพต่อกฎหมาย และเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นทุกเมื่อ 2.เราจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี รู้จักปกป้องตัวเองและผู้อื่นจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ด้วยการไม่ส่งต่อความรุนแรงไปยังผู้อื่น ไม่ว่าทางกาย วาจา และใจหรือรูปแบบและวิธีการใดๆ แต่จะตั้งมั่นในหลักเหตุผล มีสันติอหิงสา ให้ความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเสมือนญาติพี่น้อง 3.เราจะส่งต่อความช่วยเหลือ และเฝ้าระวังภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจรวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมในการแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อในทุกโอกาส
องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชนทั้งด้านการเยียวยา สงเคราะห์ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาในรูปแบบต่างๆ สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ห่างไกลอบายมุข หรือสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง อาชญากรรม การกระทำที่เป็นการยับยั้งการพัฒนา การอยู่รอด ที่เหยื่อมักจะเป็นเด็กเสมอ โดยการทำงานของเด็กและเยาวชน “ปัญหาของเด็ก แก้ไขโดยเด็ก และพัฒนาโดยเด็ก”
พงศ์ภัค มงคลชัยพาณิชย์ : รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: