การแก้ไขกฎหมายให้เกษตรกรสามารถปลูกไม้หวงห้ามและตัดได้โดยไม่มีขั้นตอนทางกฎหมายที่ยุ่งยากกลายเป็นโอกาสของเกษตรกรในจังหวัดแพร่ ที่เพาะกล้าต้นสักจำหน่าย มีปริมาณยอดขายเพิ่มขึ้น
เกษตรกรในบ้านปง หมู่ 3 ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ หันมาเพาะเมล็ดไม้สัก ทำเป็นต้นกล้าพันธุ์ออกจำหน่ายมานานนับ 10 ปี ผลิตกล้าไม้สักออกจำหน่ายหลายประเภท อาทิ เพาะต้นจากถุงดำ และขุดเหง้า จำหน่าย จากรายเล็กๆ ไม่กี่ราย ปัจจุบันเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุมีงานทำกันถ้วนหน้า
นางสายัญ ยศดี อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ 3 บ้านปง ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ เดิมเป็นเพียงแม่บ้าน แต่ในอดีตใช้เวลาว่างหาต้นไม้สักขนาดเล็กในป่าออกมาจำหน่าย ทำรายได้ ปัจจุบันเข้าร่วมกลุ่มจำหน่ายกล้าไม้สักในหมู่บ้าน ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นทำรายได้ในช่วงต้นฤดูฝนได้เป็นอย่างดี ระยะหลังหันไปรับซื้อเมล็ดไม้สักมาเพาะเอง จำหน่ายปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า 20,000 ต้น ทำรายได้จนกลายเป็นอาชีพหลัก
นางเกสร ยืนบุญ หัวหน้ากลุ่มเพาะกล้าไม้สักจำหน่ายกล่าวว่า ในอดีตนั้นมีปัญหามากการจำหน่ายกล้าไม้สักเพราะคนปลูกต้องตัดสินใจที่จะสู้กับกฏหมาย แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีหลังจากความต้องการไม้เพิ่มขึ้น ธุรกิจสวนป่าไม้สักแพร่กระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าธรรมชาติ ต้องการกล้าไม้สักจำนวนมากเช่นกัน ในกลุ่มมีการจำหน่ายเป็นต้น ราคาต้นละ 4 บาท และ 5 บาทตามขนาด อีกประเภทจำหน่ายเป็นเหง้า ราคาใหญ่เล็กไม่เท่ากัน เหง้าเล็กราคา 0.60 บาท ใหญ่ขึ้นหน่อยราคา 1.50 บาท และเหง้าเกรด A ราคาเหง้าละ 2 บาท ประเภทนี้สะดวกสามารถขนย้ายไปได้สะดวกไม้สักมีความคงทนไม่ตายง่ายเหมือนพืชชนิดอื่นๆ เหง้าบรรจุถุงเก็บไว้ได้นานนับเดือน
ปัจจุบันหน่วยป่าไม้ทั่วประเทศรู้จักแหล่งผลิตเหง้าสักที่บ้านปงเป็นอย่างดี มีการสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่องประหยัดกว่าการเพาะเองจึงกลายเป็นที่นิยมของหน่ายงานป่าไม้ที่จะนำไปปลูกฟื้นฟูป่า มียอดสั่งจองมาจากทุกภาคของประเทศ
เกสร ยืนบุญ ยังกล่าวด้วยว่า เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปลูกป่า รัฐบาลพยายามแก้กฎหมายให้ผู้ปลูกไม้สักหรือไม้หวงห้ามอื่นๆ ที่ปลูกในที่ดินของตนเอง (มีเอกสารสิทธิ์) สามารถตัดจำหน่ายได้เสรี โดยมีขึ้นตอนเสียภาษีที่ไม่ยุ่งยากเช่นในอดีต มาตรการเหล่านี้อาจเป็นตัวส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศหันมาปลูกไม้สวนป่าเพื่อการจำหน่ายมากขึ้น ก็เชื่อว่าอนาคต การเพาะกล้าไม้สักที่บ้านปง จะต้องขยายการผลิตออกไป ต่อฤดูกาลหนึ่งจะจำหน่ายกล้าไม้สักได้ในช่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฏาคม ต้องเพราะกล้าสักมากกว่า 500,000 ต้น ทุกปี เชื่อว่าในปีหน้าจะต้องเพิ่มปริมาณขึ้นอีกกว่าร้อยละ 20 เพื่อรองรับความต้องการ เกสร ผู้นำกลุ่มเกษตรกรเพาะกล้าไม้สักกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปลูกสวนป่าไม้สักถือเป็นธุรกิจเกษตรที่กำลังมีอนาคตสดใสในตลาดไม้แปรรูปทั้งในประเทศและการส่งออก เนื่องจากไม้สักมีเนื้อไม้ที่มีคุณภาพในการนำไปแปรรูปและมีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกถ้าประเทศไทยสามารถยืนยันได้ว่าไม้สักเป็นไม้ที่มาจากสวนป่าหรือป่าปลูก จะทำให้กลายเป็นสินค้นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม้สักอาจกลับมาเป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทยอีกครั้งก็เป็นได้ ในปีหน้ากรมป่าไม้ประมาณการว่าจะมีความต้องการไม้สูงถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในประเทศ กรมป่าไม้เสนอแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยเฉพาะมาตรา 7 ทำให้ไม้สักที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ไม่เป็นไม่หวงห้ามอีกต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: