เกษตรกรอินทรีย์ใน อ.เด่นชัย หันมาปลูกมันญี่ปุ่นแปรรูปสร้างรายได้เสริมหลังปลูกข้าวทำรายได้
จากความผันผวนของปัจจัยหลายด้านทำให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่สู้ดีนัก รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ มีเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดแพร่ (Phrae Organic Farming / POF ) ไม่นิ่งนอนใจหันมาคิดค้นวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มในแปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีกระบวนการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ POFและ SDG-PGS ปลูกพืชที่ตลาดต้องการและมีวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าพืชผลเกษตรอีกด้วย
นายทองสอน บุตรจันทร์ หรือผู้ใหญ่แหลม อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 106 / 1 หมู่ 3 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ เลือกปลูกมันเทศน์ญี่ปุ่น สองสายพันธุ์คือ ส้มโอกินาวา และ เบนิฮาลูกะ ขณะนี้เริ่มขุดหัวมันนำออกจำหน่ายในตลาดสีเขียวเกษตรอินทรีย์แล้ว ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการที่ใช้มันเทศเป็นวัสดุทำขนมที่มาจากมาตรฐานอินทรีย์มาสั่งจองจำนวนมาก
นายทองสอน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาว่า ตนเป็นคนอีสานมาได้ภรรยาที่อำเภอเด่นชัย จึงมาตั้งรกรากทำอาชีพรับเหมาถมดิน สร้างรายได้ดีพอสมควร แต่ปรากฏว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี งานถมดินก็ลดลง อีกทั้งความยุ่งยากในการบริหารคนทำงานซึ่งหาแรงงาน และคนที่มีความชำนาญในการขับรถขุดตักบรรทุกยากมาก จึงได้หันมาให้ความสำคัญกับการทำเกษตรในที่ดินของภรรยาคือ นางนันฑัชพร บุตรจันทร์ จำนวน 5 ไร่ ปลูกข้าวทำบ่อปลา และทดลองใช้ที่ดินจำนวน 2 งาน ปลูกมันเทศญี่ปุ่น โดยหาซื้อต้นพันธุ์มาปลูก ที่เลือกพันธุ์ ส้ม-โอกินาว่า และ เบนิฮาลูกะ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกและดูแลง่าย เหมาะกับคนทำงานที่มีหลายด้านมีเวลาไม่เพียงพอ
มันเทศญี่ปุ่นใช้เวลา 4 เดือนก็สามารถขุดหัวขึ้นมาขายได้ ชุดแรกออกสู่ตลาดนำไปจำหน่ายในตลาดสีเขียวของอำเภอเด่นชัย เพียงสองชั่วโมงสินค้าก็หมด จำหน่ายในราคา 4 กิโล 100 บาท เท่านั้น หลังจากออกไปสู่ตลาดสีเขียวของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เด่นชัย มีผู้ประกอบการทำขนม และ กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการอาหารอินทรีย์ มาสั่งจองต่อเนื่อง
นางธมนภัทร สมภาร เจ้าของกิจการขนมปังที่อ.วังชิ้น จ.แพร่ เข้ามาสั่งจองมันเทศส้มโอกินาว่า ถึงแปลงปลูก นำไปเป็นส่วนผสมในขนมปังเพิ่มสารอาหารให้มีคุณค่ามากขึ้นรวมทั้งสีสัน และรสชาติถูกปากคอขนมปังมากขึ้นที่สำคัญเป็นขนมปังออแกนิค อีกด้วย
นางมาริสา บางชะวงษ์ ข้าราชการบำนาญ (พยาบาล) ร.พ.แพร่ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่เกษตรกรในอำเภอเด่นชัยรวมกลุ่มกันเหนียวแน่น ทำพื้นที่ให้ปลอดสารเคมีในระดับอินทรีย์ เมื่อนำมันเทศญี่ปุ่นมาปลูก โดยเฉพาะมันนั้นมีคุณสมบัติทางส่งเสริมสุขภาพอยู่แล้ว ในเนื้อมันมีเบต้าแคลอทีนอยู่มาก เมื่อปลูกในพื้นที่ควบคุมไม่ให้สารเคมีเข้ามาจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภคมาก
นอกจากการปลูกมันที่เป็นพืชเกษตรแล้ว นางนันฑัชพร ภรรยาผู้ใหญ่แหลม ยังแนะนำให้มีการแปรรูปได้เองถ้าจะนำไปปลูก สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายคุ้นกับคนไทยอยู่แล้ว เมนูที่ทำกันทุกวันจำหน่ายไม่เพียงพอ คือ ข้าวเหนียวปิ้ง ขนมเทียน ใส้มันญี่ปุ่น “ส้มโอกินาว่า” การทำใส้ไม่ต้องใส่น้ำตาลมากเพราะมันมีรสชาติหวานในตัวอยู่แล้ว มันเทศญี่ปุ่นยังนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ทอดกรอบ เป็นมันฉาบ นำไปแปรรูปเป็นมันทอด แบบกล้วยแขก ได้อร่อยมาก ทำขนมในครัวเรือน มันต้มน้ำตาล มันแกงบวช หรือจะไปเผา อบ ย่าง รับประทานเป็นอาหารข้างเคียงกับเนื้อสัตว์ได้ดีอีกด้วย ทำอาหารได้หลากหลายมาก
ผู้ใหญ่แหลม กล่าวด้วยว่า มันเทศญี่ปุ่น ที่ปลูกอยู่เพียงทดลองทำในที่ดินแค่ 2 งานเท่านั้น การบำรุงรักษาก็ง่ายใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และ ต้องการน้ำไม่มากแต่ต้องมีสม่ำเสมอ ส่วนเกินจากนำไปจำหน่าย เช่นหัวที่แตกจากการขุด ลำต้น ใบ สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ใช้ได้ในแปลงเกษตรไม่ต้องทิ้งและที่สำคัญไม่ต้องเผาให้เกิดมลภาวะอีกด้วย หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะเพิ่มจาก 2 งานเป็น 1 ไร่ทำตามศักยภาพไม่เหนื่อยและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ถือเป็นแนวทางที่ทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นวิธีการลดต้นทุน ไม่ทำลายธรรมชาติ สร้างสุขภาพให้ครอบครัวมีอาหารเพียงพอ เหลือจึงนำไปจำหน่าย นั่นเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: