X

เวนคืน สร้างอ่างแม่แคม ยังมีปัญหาที่ดินต้นไม้วัดแม่แคมเคลียร์ไม่ลง


อาจถึงถวายฎีกา ร้องทุกข์สร้างอ่างเก็บน้ำแม่แคม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ผู้รับผิดชอบ ปล่อย ตัดไม้ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ หาผู้รับผิดชอบไม่ได้

วุ่นไม่หยุด ชลประทาน ปัดรับผิดชอบ ปล่อยไม้สัก และไม้กระยาเลย ในที่ดินธรณีสงฆ์วัดแม่แคม หายเกลี้ยง กระทบการส่งมอบที่ดินธรณีสงฆ์ให้กรมชลประทาน วัดร้องศูนย์ดำรงธรรมเปิดเวทีแก้ถ้ายังไม่มีผล เตรียมถวายฎีกาสำนักพระราชวัง

โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สร้างอ่างเก็บน้ำแม่แคมเริ่มโครงการก่อสร้าง ในปีพศ 2560 เป็นการสานต่อพระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังสวรรคตใด้ 1 ปี ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้าง แล้วเสร็จไป ประมาณร้อยละ 40 แต่พบว่า กรมชลประทาน ได้ว่าจ้าง ผู้รับเหมา ดำเนินการ โดยเฉพาะก่อนเริ่มทำการก่อสร้าง มีการสำรวจพื้นที่รับน้ำจำนวน 59 ตารางกิโลเมตรมีราษฎรครอบครองที่ดินทำการเกษตรและที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดแม่แคม อยู่ในบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ทำการ สำรวจ สิ่งปลูกสร้าง อาคาร ต้นไม้ ขอเกษตรกร และของวัดเพื่อทำบัญชี จ่ายเงินค่ารื้อถอนค่าขนย้ายและค่าเวนคืนที่ดิน ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการมาถึงปีพศ2563 ปรากฏว่า การจ่ายเงิน ดังกล่าว ให้กับประชาชนและวัดแม่แคม ยังไม่แล้วเสร็จ มีจ่ายไปบางส่วนและบางส่วนยังคงรอการจ่ายของทางกรมชลประทาน โดยเฉพาะที่ดินของวัดแม่แคม จำนวน 2 แปลง รวม 5 ไร่เศษ มีการก่อสร้างอาคารเขื่อน กั้นน้ำ ไปแล้ว แต่ยัง ไม่ได้ดำเนินการ ทำผาติกรรม หรือการเพิกถอน ที่ดินธรณีสงฆ์ เพื่อโอนให้กับกรมชลประทานแต่อย่างใด

พระครูสุนทรวรปัญโญ เจ้าอาวาสวัดแม่แคม เปิดเผยว่า นอกจากยังไม่ได้ทำผาติกรรมแล้ว ยังมีการ นำรถแบคโฮของบริษัท เข้าทำลาย ต้นไม้โดยเฉพาะไม้สัก จำนวน 260 ต้น และไม้กระยาเลยไม้ผลอีกจำนวนมาก ไม่มีการขออนุญาตกับทางวัด และทรัพย์สินเหล่านั้น ก็หายไปหมด ความจริงแล้วต้นไม้ต่างๆเป็นทรัพย์สินของวัด ที่ติดอยู่ในธรณีสงฆ์ เมื่อจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งควรแจ้งให้กับผู้รับผิดชอบที่ดิน แต่กรมชลประทาน เพิกเฉยละเว้นการกระทำดังกล่าว พระครูสุนทร ได้ เข้าแจ้งความ ไว้เป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่สภ.ช่อแฮ ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมานานกว่า 4 เดือนยังไม่มีการชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันความเข้าใจของชาวบ้านต่างพากันเข้าใจว่า เจ้าอาวาสวัดแม่แคม ได้เงินในการจำหน่าย ต้นไม้และค่าเวนคืนเข้ากระเป๋าเป็นข้อครหาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถ้าปล่อยนานไป อาจบานปลาย เกิดปัญหาต่อวัดรุนแรง จึงได้นำความเข้าร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้คลี่คลาย ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนเงินที่จะได้มาทั้งต้นไม้และค่าเวนคืนเป็นทรัพย์สินของ กรมการศาสนา พระครูสุนทรกล่าวว่าตนไม่ได้คิดต้องการทรัพย์สินเหล่านั้นแม้แต่ร่างกายของตนเองก็มอบให้กับสถาบันการศึกษาการแพทย์ไปแล้ว

หลังจากที่วัดได้ร้องไปยังศูนย์ดำรงธรรม นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้มอบหมาย ให้นายสุแก้ว จันทวงศ์ ปลัดอำเภอเมือง นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปร่วมชี้แจง ประกอบด้วย พูดแทน สำนักพุทธจังหวัดแพร่กรมชลประทาน หน่วยป่าไม้ในพื้นที่ สำนักงานที่ดินจ.แพร่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประชุมหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยทางพระครูสุนทรวรปัญโญ ได้มอบอํานาจ ให้นายพิทักษ์ชัย รักสุข ทำหน้าที่แทนพระสงฆ์ในการประชุม ที่วัดแม่แคม หมู่ 7 ตำบลสวนเขื่อนอำเภอเมืองแพร่

ผลของการหารือร่วมกัน จึงทราบว่า กรมชลประทานดำเนินการ ต่อที่ธรณีสงฆ์ผิดระเบียบมิได้ดำเนินการตามระเบียบของกรมศาสนาคือการทำผาติกรรม ต้องยกเลิก กฤษฎีกาที่ดินธรณีสงฆ์เสียก่อน จึงนำไปสู่กฎหมายเวนคืนได้ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากพระชั้นผู้ใหญ่ของมหาเถรสมาคมเสียก่อน ประเด็นต่อมา ทรัพย์สินในเขตธรณีสงฆ์ ได้แก่ ต้นไม้ ที่มีขนาดใหญ่โดยเฉพาะไม้สักทอง จำนวน 260 ต้น และยังมีไม้กระยาเลย รวมทั้งไม้ผล อีกจำนวนมาก ต้นไม้เหล่านี้ สูญหายไปทั้งหมด โดยทางวัด มีได้รับทราบ

ซึ่งเจตนาของพระครูสุนทรวรปัญโญเจ้าอาวาสวัดแม่แคม มีความต้องการสนองพระราชดำริ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงพร้อมใจกับราษฎรในการมอบที่ดินทางวัดให้กับโครงการ แต่ปรากฏว่า โครงการมิได้ดำเนินตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติของกรมการศาสนาพร้อมทั้งปล่อยให้เวลาเนิ่นนานจนเกิดการติฉินนินทา ว่าร้ายต่อทางวัดว่า เป็นผู้ต่อต้านการสร้างเขื่อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้อ่างเก็บน้ำก่อสร้างล่าช้าสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของกรมชลประทาน

ที่ประชุมนำโดยผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่คือนายสุแก้ว จันทร์ต๊ะวงศ์ปลัดอำเภอเมือง ได้เสนอหาข้อยุติคือ 1 ให้กรมชลประทาน ทำความเข้าใจ ระเบียบวิธีปฏิบัติการทำผาติกรรม จากสำนักพุทธจังหวัดแพร่ แล้วเร่งดำเนินการ 2 ให้ชลประทานสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณี ไม้มีค่าในพื้นที่ธรณีสงฆ์ หายไป การสอบหาข้อเท็จจริงดังกล่าวให้กรมชลประทาน รายงาน มายังศูนย์ดำรงธรรม ภายในวันที่ 8 มกราคม เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

วรพล เดชสุวรรณ์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนัก ชลประทานสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 4 กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ ดูแล โครงการดังกล่าว ดังนั้นจึงทราบเรื่องเฉพาะที่ บริษัทผู้รับเหมารายงานให้ทราบ ส่วนความเสียหายหรือกระบวนการที่ทำให้เกิด ความเสียหายเรื่องของไม้มีค่าทรัพย์สินของทางวัดแม่แคมหายไปและเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ทำหนังสือถึง ผู้รับผิดชอบวัด ซึ่งเป็นนิติบุคคล เรื่องนี้ จะขอไปติดตาม ว่าเป็นข้อผิดพลาดหรือส่งไม่ถึงอย่างไร โดยปกติหนังสือเหล่านี้จะส่งผ่านผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านมายังเจ้าของที่ดินและมีการปิดประกาศที่อำเภอ แต่ตนยังไม่ทราบรายละเอียดจึงขอไปตรวจสอบและจะรายงานให้ทราบตามวันเวลาที่กำหนด

นายพิทักษ์ชัย รักสุข ผู้ได้รับมอบอำนาจโำเนินการ จากเจ้าอาวาสวัดแม่แคม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของการสมคบคิดกันหลายฝ่าย นำไม้มีค่า ของทางวัดแม่แคม ออกไปจากบริเวณสร้างเขื่อน ซึ่งหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ที่ปล่อยให้ มีการลักลอบตัดไม้หวงห้ามมีเจ้าของออกไปจากบริเวณที่ดิน ซึ่งยังไม่มีการเวนคืนใดๆทั้งสิ้น ในเรื่องนี้จะขอดูการชี้แจง ของกรมชลประทานเสียก่อนซึ่งถ้าพบว่ายังไม่แก้ไขหรือรับผิดชอบใดใดวัดแม่แคมอาจต้อง ถวายฎีกา เพราะเรื่องดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้แก้ไข มานานกว่า 2 ปี แต่ทางเจ้าหน้าที่ต่างพากันเพิกเฉย และสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับวัด อย่างไรก็ตาม การประชุมที่ศูนย์ดํารงธรรมจัดขึ้นก็ถือได้ความกระจ่างระดับหนึ่งว่าเกิดขึ้นจาก ผู้รับผิดชอบในโครงการชลประทานนี้ไม่ให้ความสนใจที่จะประสานงานกับ นิติบุคคลเจ้าของที่ดินในการเคลียร์พื้นที่ เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ความจริงแล้วถือว่ามีความผิด ในการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ และทางวัดมิได้คิดเรื่องคดีความแต่ต้องการ ให้การสร้างอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความบริสุทธิ์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นการน้อมนำความดีถวายต่อพระองค์ท่าน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน