อ้างวัดร้างไม่มีเจ้าของเครื่องจักรกรมชลฯโคน ผู้นำหมู่บ้านเอาไม้ไป สำนักพุทธฯ บันทึกชัดเครื่องจักรของผู้รับเหมากรมชลฯ ลงมือทำลายต้นไม้ทรัพย์สินของวัดผู้นำชุมชนเอาไม้ไปอ้างไม่มีเจ้าของ ระบุให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการสืบสวนหาข้อเท็จจริงไม้สักทองและไม้กระยาเลยพร้อมทั้งไม้ผลในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดแม่แคมจำนวนกว่า 500 ต้นหายไปและพื้นที่ธรณีสงฆ์วัดแม่แคมดังกล่าวยังมิได้ทำ “ผาติกรรม” ยกเลิกกฤษฎีกาที่ดินสงฆ์ เพื่อเข้าสู่การเวนคืนแต่อย่างใด ในขณะที่มีการสร้างแนวสันเขื่อน และสปิลเวย์ของอ่างเก็บน้ำแม่แคมแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 50 แล้ว โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ ได้เข้าแก้ปัญหาเพื่อให้การสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แคม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลที่วัดแม่แคม หมู่ 7 ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ ประกอบด้วย กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ เทศบาลตำบลสวนเขื่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้บริหารโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แคม ที่ดินจังหวัดแพร่ สำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พระครูสุนทรวรปัญโญ เข้าอาวาสวัดแม่แคม และ นายพิทักษ์ชัย รักสุข ผู้รับมอบอำนาจจากวัดแม่แคมทำการแทนเจ้าอาวาสในการสืบค้นหาความจริง เข้าร่วมประชุมมี นายสุขแก้ว จันทร์ตะวงค์ ปลัดอำเภอเมือง ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่างน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ไปสืบหาข้อเท็จจริง 2 เรื่อง คือ 1 เห็นที่ไม้สักทองและไม้มีค่าอื่นๆ หายไป ให้สอบหาข้อเท็จจริง 2.การทำผาติกรรมดำเนินการในขั้นตอนใดแล้วและจะดำเนินการต่ออย่างไร ทั้ง 2 ประเด็นให้นำเสนอรายงานในวันที่ 8 มกราคม โดยส่งผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่
ล่าสุด เวลา 10.00 น.วันที่ 8 มกราคม ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ ผู้เกี่ยวข้องได้เข้ามาติดตามผลการรายงานของกรมชลประทาน ประกอบด้วย นายพชรวัฒน์ กาวิชา เจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ นายชยพล ศรีงาม นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ สำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ นางอรอุมา เบ็ญน้อย เจ้าหน้าที่ติดตามโครงการพระราชดำริจังหวัดแพร่ นายพิทักษ์ชัย รักสุข โดยมีนายสมบัติ กิติสาร ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ เป็นประธานพูดคุย ที่ประชุมได้ถามหาผลการสอบสวนนายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่างน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่างน้ำขนาดกลาง กรมชลประทานแจ้งว่า ยังไม่มีผลการสอบสวนของกรมชลประทานส่งเข้ามาแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการผิดนัดข้อตกลงในการประชุมครั้งที่ผ่านมานายชยพล ศรีงาม นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ สำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ได้เปิดข้อมูลเบื้องหลังมีบันทึกข้อมูลวันที่มีการบุกรุกทำลายไม้ในเขตธรณีสงฆ์ มีการบันทึกข้อความที่ พร.0034 ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยนางจุฑารัตน์ อุดศรี นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ เป็นผู้บันทึก นายโสไกร ใจมั่น นักวิชาการศาสนาชำนาญการ สำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ พยาน และนางสาวอนันยา เจียมศรีพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ร่วมลงนามในบันทึกดังกล่าว
เอกสารหลักฐานดังกล่าวมีการบันทึกเหตุการณ์ ณ จุดเกิดเหตุ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562 เรื่องเดิมพระครูสุนทรวรปัญโญ เข้าอาวาสวัดแม่แคม ได้แจ้งมายังสำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ว่ามีกลุ่มบุคคลนำรถแบ็คโฮเข้าไปในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดแม่แคม เข้าตัดไม้ไปแล้วบางส่วนจึงได้ขอหารือขอคำปรึกษาสำนักพุทธฯ
ในบันทึกระบุว่า นางจุฑารัตน์ อุดศรี นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการและนางสาวอนันยา เจียมศรีพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ เข้าตรวจที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ในพื้นที่ธรณีสงฆ์เอกสารสิทธิ์ นส.3 ก. จำนวน 2 แปลง แปลงแรก เลขที่ 1085 จำนวน 4 ไร่เศษ แปลง 2 เลขที่ 1101 จำนวน 1 ไร่เศษ พื้นที่ดังกล่าวพบมีการตัดไม้โค่นล้มได้โทรศัพท์สอบถามนายเศรษฐพงษ์ สวนเขื่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.สวนเขื่อน ได้ความว่า นายธีระ ท้าวพันวงศ์ นายเศรษฐพงษ์ สวนเขื่อน และชาวบ้านบางส่วน เป็นผู้ชี้ที่ดินให้บริษัทรับเหมาสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้ดำเนินการตัดไม้อ้างว่าจะเอาไม้ไปใช้สาธารณประโยชน์ในหมู่บ้านไม่ได้นำไปให้วัดแม่แคมเพราะมีความเข้าใจว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นวัดร้าง ทรัพย์สินในที่ดินจึงไม่ใช่ของวัด และในส่วนของเอกสารแจ้งให้กับวัดทราบ เนื่องจากผู้นำหมู่บ้านดังกล่าวมีความขัดแย้งเดิมอยู่กับเจ้าอาวาสจึงไม่แจ้งให้เจ้าอาวาสทราบ หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นนายธนิฏฐ์ ทองพนัง ฝ่ายจัดหาที่ดินที่ 4 ส่วนจัดหาที่ดิน สำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน ได้ประสานมายังสำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ในตอนบ่ายวันที่ 4 เมษายน 2562ให้คำมั่นว่าจะส่งหนังสือแสดงรายละเอียดมายังสำนักพุทธฯ จ.แพร่
ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ ได้ให้คำแนะนำ แก่เจ้าอาวาส กรรมการวัด ผู้ใหญ่บ้าน ไวยาวัจกร และชาวบ้านที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นธรณีสงฆ์ตามเอกสารสิทธิ์ ต้นไม้สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เป็นของวัด ไม่ใช่ของหมู่บ้านอำนาจตัดสินใจเป็นของเจ้าอาวาส แนะนำให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการในเรื่องที่เกิดขึ้น หากมีค่าชดเชยค่าเสียหายให้นำเงินเข้าบัญชีธนาคารของวัดและจัดทำบัญชีรายงานเจ้าอาวาสและสำนักพุทธฯ ให้กลุ่มบุคคลหยุดการกระทำบุกรุกที่ดินธรณีสงฆ์ ทรัพย์สินของวัดแม่แคม โดยไม่ต้องดำเนินคดีเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติม บันทึกดังกล่าวได้รายงานให้เจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะจังหวัดแพร่รับทราบเพื่อดำเนินการทำผาติกรรมที่ธรณีสงฆ์วัดแม่แคมต่อไป
บันทึกดังกล่าวระบุไว้ชัดเจน ว่า กลุ่มบุคคล ได้แก่ผู้รับเหมาสร้างอ้างเก็บน้ำ ผู้นำชุมชน เป็นผู้บุกรุกที่ดินวัดแม่แคม จนเกิดความเสียหาย ให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใต้คณะกรรมการฯ พร้อมกับส่งเงินเข้าบัญชีธนาคารของวัดแม่แคมและดำเนินการทำผาติกรรมต่อไป ซึ่งพบว่าในข้อเท็จจริงไม่มีการปฏิบัติแต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบันกรมชลประทาน ผู้นำชุมชนที่ถูกระบุชื่อ นอกจากไม่รับผิดชอบพากันเพิกเฉยและยังไม่เร่งดำเนินการทำผาติกรรม ทำให้การสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่สง่างามสมกับการที่ประชาชนและวัดพร้อมใจกันมอบที่ดินให้เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำแหล่งสำคัญของจังหวัดแพร่ ศูนย์ดำรงธรรมจึงมีการนัดหารือภายในจังหวัดอีกครั้ง ในวันที่ 20 มกราคมนี้ที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ ก่อนที่ผู้เสียหายอาจเขียนฎีกาเสนอต่อสำนักพระราชวังต่อไปเมื่อหน่วยราชการไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายบ้านเมืองและยังเพิกเฉยทุกระดับชั้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: