ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ออกคำสั่งปลดนายก อบต.บ้านหนุน ฐานประพฤติมิชอบ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีจัดซื้อกล้องวงจรปิด (CCTV) แก้ปัญหาทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับ อบต.และเทศบาลเต็มเมือง
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ ถึงความคืบหน้าการปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ล่าสุดนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ออกคำสั่งที่ 3003/2564 ให้นางกชกร เกยงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีจัดซื้อกล้องวงจรปิดหรือ CCTV
ในคำสั่งระบุว่า ปปช. ได้รับเรื่องกล่าวหา นางกชกร เกยงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน กับพวกว่า กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณีกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่ใช้ในการจัดซื้อกล้องวงจรปิด (CCTV) ตามโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (cctv) แบบ IP/network Camara ให้มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย ได้มีสิทธิ์เข้าทำสัญญา ซึ่งคณะกรรมการปปช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนางกชกร เกยงค์ มีมูลความผิดทางอาญามาตรา 157 และมีมูลความผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จังหวัดแพร่พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีคณะกรรมการปปช. มีมติว่าการกระทำของนางกชกร เกยงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กับพวกกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดเกียวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณีกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่ใช้ในการจัดซื้อกล้องวงจรปิด (CCTV)ตามโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) แบบ IP/network Camara ให้มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางรายมีสิทธิเข้าทำสัญญาเป็นมูลความผิดทางอาญามาตรา 157 และมูลความผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือ ปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
เมี่อความปรากฏตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (แบบ ตส.ป.ป.ช.18 ) ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 กรณีกล่าวหานางกชกร เกยงค์ ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหนุน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในเรื่องที่ถูกกล่าวหา โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) แบบ IP/network Camara ความละเอียด 2 ล้านพิกเซลขึ้นไปและมีคุณลักษณะขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดจำนวน 9 ชุดพร้อมอุปกรณ์เฉพาะที่ใช้ในการจัดซื้อกล้องวงจรปิด(CCTV)
โดยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 อบต.บ้านหนุนประกาศสอบราคา ซื้อกล้องซีซีทีวีความละเอียด 2 ล้านพิกเซล พร้อมอุปกรณ์การติดตั้งและมีคุณลักษณะพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนดจำนวน 9 ชุดพร้อมติดตั้ง ราคากลางเป็นเงิน 900,000 บาท มีการระบุรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของกล้องวงจรปิดให้แตกต่างไปจากเกณฑ์ราคากลางและคุณสมบัติพื้นฐานของระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ชื่อเดิมกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ) กำหนด เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวแทนจำหน่างผลิตภัณฑ์กล้องวงจรปิด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย NVR และอุปกรณ์กระจายสัญญาณเพียงยี่ห้อเดียวที่เข้าเสนอราคากับ อบต.บ้านหนุน เป็นการกีดกันผู้แทนจำหน่ายสินค้ารายอื่น ๆ มิให้มีโอกาสเข้ามาเสนอราคาอย่างเป็นธรรมทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการตามฐานความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ประกอบกับแนวทางปฏิบัติกระทรวงมหาดไทย กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่นและรองประธานสภาท้องถิ่นว่าด้วยการกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมอันเป็นการจงใจทอดทิ้ง หรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยและคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561มาตรา 98 วรรคสี่ให้ดำเนินการโดยให้นายอำเภอพิจารณาตามความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งกรรมการสอบสวนและใช้ส่วนการไต่สวนของคณะกรรมกาการ ป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนแล้วทำความเห็นรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาสั่งการให้พ้นจากตำแหน่ง
สำหรับมาตรการลงโทษดังกล่าว นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ลงนามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา คำสั่งถือเป็นที่สุดโดยยังมีโอกาสให้มีการโต้แย้งคำสั่งได้ต้องทำหนังสือไปยังศาลปกครองภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำสั่งตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 คำสั่งดังกล่าวถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญของการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนึ่งในหลายๆ รายที่ยังมีปัญหาการทุจริตอยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งทุกปัญหาทุจริตจะเห็นว่ามีการพิจารณาที่ล่าช้ามากแต่ละรายมีการพิจารณาเกือบ 10 ปีกว่าจะมีผลออกมา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: