ทำเฉยเหมืองแร่แบไรต์ทำลายสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านทนทุกมาตั้งแต่มีเหมืองปี 2522 จนปัจจุบันปิดเหมืองแล้ว. ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบฟื้นฟูผลกระทบให้ชาวบ้าน
ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดแพร่เป็นตัวกลางสร้างเวทีรับรู้ปัญหาเพื่อการแก้ไขความเดือดร้อนที่ทนมานาน รัฐรับปากจะแก้ในปี 2565 แต่ขณะนี้ไม่คืบ
ปัญหาเหมืองแร่แบไรต์ในหมู่ที่ 5 ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ ที่ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522
เหมืองขอสัมปทานจำนวน 3 แปลง ส่งผลให้เกิดมลภาวะหลายด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเสียงดังตลอดเวลาแม้ในเวลากลางคืน ถนนเข้าหมู่บ้านชำรุด ที่สำคัญเหมืองได้ทำลายระบบนิเวศน์ของป่าและลำน้ำแม่สวกไปเรียบร้อย เกิดการพังทลายของดินจากยอดเขาลงสู่ลำห้วยแม่สวก จนลำห้วยไม่สามารถขังน้ำได้ ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ชาวบ้านพยายามร้องไปทางจังหวัดหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล จนวันที่ 25 สิงหาคม 2565 คณะผู้ตรวจการแผ่นดินนำโดย พ.ท.เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าดูพื้นที่โดยได้เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดแพร่ เข้าดูเพื่อให้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งหลายหน่วยงานรับปากว่าจะทำการแก้ไขตามที่ชาวบ้านร้องขอ เช่น การฟื้นฟูลำห้วยแม่สวกให้มีน้ำใช้เหมือนเดิม ฟื้นฟูอาชีพ และ ป่าชุมชน ซึ่งงานแก้ปัญหาหลายด้านยังคงติดขัดที่กฎหมายแต่ในที่ประชุมได้ระบุให้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขลดความเดือดร้อนต่อประชาชน
แต่มาถึงปัจจุบันพบว่ายังไม่มีการดำเนินการใดใด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดแพร่ ได้จัดเวทีทบทวนสภาพปัญหาที่ผ่านมานานถึง 1 ปี โดยนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ จำนวน 30 คน เข้าร่วมเวที โดยทางสถาบันได้เชิญหน่วยราชการผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ สำนักงานจัดการป่าไม้ที่ 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ องค์การบริหารส่วนตำบลต้าผามอก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ร่วมเป็นประธานในการรับฟัง ซึ่งนายกิตติชัช บุตรศรี นายอำเภอลอง เป็นผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มาเป็นประธาน
พบว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการให้แก้ไขเร่งด่วนเมื่อปี พ.ศ. 2565 เช่น ปรับปรุงลำห้วยให้น้ำไหลได้เป็นปกติ ยังไม่มีการดำเนินการใดใด โดยอ้างว่า ติดที่กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมวิเคราะห์ร่วมกันแล้วทราบว่า กฎหมายเปิดให้เป็นกรณีเร่งด่วน สามารถทำเรื่องไปขออนุญาตผ่านอธิบดีกรมป่าไม้ได้ถือเป็นช่องทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุด โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ นำเครื่องจักรมาช่วยและ องค์การบริหารส่วนตำบลต้าผามอก ใช้งบประมาณเป็นค่าน้ำมัน แต่เรื่องนี้ยังไม่คืบหน้าใดๆ
ชาวบ้านได้ระดมความคิดเห็นร่วมกัน อีกครั้งโดยมีข้อเสนอต่อ ประธานในที่ประชุม 3 ข้อ คือ 1.ขุดลอกลำห้วยแม่สวก ให้มีสภาพเหมือนเดิม 2.ทำกำแพงคันดินกั้น กันการพังทลายของขี้แร่มาทับถมในลำน้ำแม่สวก และ 3 ให้อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันฟื้นฟูป่าในบริเวณเหมืองและกำหนดให้เป็นป่าชุมชน โดยไม่ให้มีการสัมปทานในบริเวณนี้อีกต่อไป และเรื่องเร่งด่วนในหน้าแล้งปีนี้ ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับปรุงลำห้วยเพื่อให้น้ำไหลไปได้ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนปี 2566
ซึ่งข้อเสนอทั้งหมด ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดแพร่ ได้จัดพิมพ์เป็นข้อเสนอต่อ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการเพื่อทำให้ข้อตกลงสู่การบังคับใช้ตามกฎหมายได้ต่อไปถ้าทางราชการยังเพิกเฉย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: