ตามที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับการรายงานผลการวิจัย ผลประสิทธิภาพการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีศึกษาชุดโครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำให้ประชาชน และผู้ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองในชุมชน เกิดความสับสนและเกิดความตื่นกลัวการใช้ฟ้าทะลายโจร เนื่องจากข้อมูลจาก บทสรุปผู้บริหารโครงการวิจัย ประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรฯ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ สวรส.(https://www.hsri.or.th/media/news/detail/14528) ระบุข้อความว่า “พบว่าการได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรจะมีความเสี่ยงในการเกิดตับอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ” และเสนอให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกคำเตือน “ควรให้มีการออกคำเตือนการใช้สมุนไพร(ฟ้าทะลายโจร) ว่าพบรายงานการเกิดตับอักเสบ”
เครือข่ายหมอพื้นบ้านภาคเหนือ โดย นายรณเกียรติ คำน้อย ได้ติดตามรายงานนี้ และเห็นว่าบทสรุปผู้บริหารที่เผยแพร่นั้น อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ เพราะ “การศึกษาวิจัยนี้ทำพร้อมกันใน 2 พื้นที่ ที่สระบุรี และปราจีนบุรี พบว่าพื้นที่สระบุรี ใช้ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร ยังไม่มีรายละเอียดในการเผยแพร่ แต่พื้นที่ปราจีนบุรีใช้ผงยาฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก/วัน ซึ่งทำการเทียบกับยาหลอกทั้ง 2 พื้นที่ สำหรับพื้นที่ปราจีนบุรี มีผู้ร่วมวิจัยได้เผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นผ่านสื่อออนไลน์ อธิบายไว้ว่าผลต่อตับ คือค่าเอนไซม์ตับ (ALT) สูงขึ้นมากกว่า 3 เท่า หลังการรักษา ซึ่งก็พบในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกพบ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 0.78 และในผู้ที่กินฟ้าทะลายโจรพบ 2 คน คิดเป็นร้อยละ 1.48 แต่ 1 คนพบว่าในวันที่ 28 หลังได้รับการรักษา ซึ่งเป็นวันที่นัดผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจค่าเอนไซม์ตับเป็นครั้งสุดท้าย และค่าเอนไซม์ตับได้ลดลงมาเป็นปกติ และยังมีอีก 1 คน ที่มีค่าเอนไซม์สูงตั้งแต่วันที่ 3 และเริ่มลดลงในวันที่ 10 ก่อนออกโรงพยาบาลด้วย และที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยทุกรายไม่พบอาการแทรกซ้อนจากค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้น หรือพูดได้ว่าไม่ได้มีอาการผิดปกติที่แสดงออกมา”
การด่วนสรุปว่า “ยาฟ้าทะลายโจรที่ติดต่อกัน 5 วัน จะทำให้ตับอักเสบ ทำให้ประชาชนตกใจและหวาดกลัว ซึ่งในผลการรายงานและข้อมูลที่ได้ไม่น่าจะสรุปผลได้เช่นนั้น เครือข่ายหมอพื้นบ้านที่ทำงานส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง และที่ผ่านมาในวิกฤตโควิด-19 นั้น ชาวบ้านได้ยาฟ้าทะลายโจร แก้อาการไข้และอาการต่างๆ ได้อย่างดี เป็นที่พึ่ง บรรเทาเบาบางความรุนแรงของโรคและความแออัดในโรงพยาบาลด้วย ”
เครือข่ายฯ เห็นความสำคัญของการศึกษาวิจัย และในเวลาจำกัดครั้งนี้อาจทำให้ผลการศึกษายังไม่สมบูรณ์จึงพบว่า ยาฟ้าทะลายโจรไม่สามารถลดอัตราการเกิดปอดอักเสบหรือลดอาการและลดปริมาณเชื้อไวรัสได้ ซึ่งอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การได้รับวัคซีนแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส จึงสนับสนุนหน่วยงานวิจัยให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อมีคำตอบให้สังคมไทยให้สมุนไพรที่เป็นที่พึ่งของประชาชนทั้งยากปกติและรับมือกับวิกฤตได้ด้วย
นางจรูญ อภิวัฒนพงศ์ ผอ.รพ.สต.แม่ตืด อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า ในชนบทยาฟ้าทลายโจรมีความสำคัญซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ โดนเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด19 ฟ้าทะลายโจรมีผลข้างเคียงน้อยกว่าพาราเซตามอลแน่นอน ซึ่งการใช้ยาฟ้าทะลายโจรไม่จำเป็นต้องรับประทานติดต่อกันนานๆ จึงไม่พบเกิดอันตรายจากการใช้ยาฟ้าทะลายโจรแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความกระจ่างโดยเร็ว ซึ่งหน่วยงานวิจัยก็ควรนำเสนอผลวิจัยโดยละเอียดเพราะการนำเสนอผลวิจัยที่ไม่ครบถ้วนอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: