บ้านเขียว อาคารโบราณมีความสำคัญในประวัติศาสตร์การทำไม้ของเมืองแพร่ อาคารแห่งนี้ยังเชื่อมโยงการทำไม้ในภาคเหนือในลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำน่าน ตั้งอยู่บริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ภายในชุมชนเชตวัน เขตเทศบาลเมืองแพร่ บ้านเก่าหลังนี้ถูกรื้อทำลายจากโครงการของรัฐ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนออกมาประท้วงโดยเฉพาะชาวเมืองแพร่ออกมาแสดงบทบาทอนุรักษ์หวงแหนอาคารโบราณบ้านเขียวอย่างต่อเนื่องในช่วงปีพุทธศักราช 2563 จนเป็นที่มาของคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการฟื้นฟูกับสู่สภาพเดิมโดยใช้งบประมาณผ่านกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่
โครงการก่อสร้างได้ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2567ได้มีการตรวจรับงานในงวดที่ 3 และมีเวทีประชาคมรายงานผลความคืบหน้าให้กับชุมชนเชตวันและองค์กรอนุรักษ์บ้านเก่าของเมืองแพร่เพื่อรับทราบการดำเนินงาน และขอข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อโดยบ้านหลังนี้จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมพุทธศักราช 2567 นี้
นางสาวปรัชญาภรณ์ ศรีคุณ หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวัน(เจ้าของพื้นที่) กล่าวว่า บ้านเขียวแห่งนี้กรมอุทยานฯ ได้พัฒนาเป็นโครงการอนุรักษ์และพัฒนาศูนย์เรียนรู้การป่าไม้สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี หจก.ช่อฟ้าก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันมีการตรวจรับงานงวดที่ 3 โดยมีคณะกรรมการผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรส่วนกลาง สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เทศบาลตำบลป่าแมต และ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13(แพร่) ผู้ร่วมติดตามความคืบหน้าได้แก่ สมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ พร้อมด้วยประชาชนชุมชนเชตวัน และผู้ให้ความสนใจ โดยมีประเด็นเพื่อให้ภาคประชาชนได้รับทราบในการลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง มีดังนี้
1.คณะกรรมการตรวจรับงานงวดที่ 3 เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยงานติดตั้งพื้นไม้ชั้นที่ 2 งานติดตั้งอเสและโครงหลังคา (ไม่รวมระแนงไม้) งานติดตั้งประตู-หน้าต่างไม้ชั้นที่ 1 งานติดตั้งหลังคากันสาดและเชิงชาย งานติดตั้งฐานคอนกรีตรับบันไดและบันไดไม้ งานสำรวจตำแหน่งและจัดทำบัญชี ผนังไม้ ฝ้าเพดานไม้ ราวระเบียงและราวบันได ซึ่งขณะนี้งานก่อสร้างโครงการฯ มีความคืบหน้าประมาณ 65%
2.การสงวนสิทธิ์และขยายระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ครั้ง จำนวน 51 วันเนื่องจาก การขยายครั้งที่ 1 ตามมติที่ประชุม 27 พฤศจิกายน 2566 ผู้รับจ้างทำการแก้ไขเสาตอม่อแถวที่ 9-12 โดยทำการทุบเสาตอม่อเดิมแล้วทำการต่อเสาตอม่อขึ้นมาใหม่ จากเดิม 60 เซนติเมตร เสริมตอม่อ +30 เซนติเมตร เป็น 90 เซนติเมตร เพื่อรับกับเสาไม้เดิมที่มีอยู่และเสาไม้ใหม่ที่มีความยาวไม่เพียงพอกับระดับหลังคาด้านหลัง การขยายครั้งที่ 2 ตามมติที่ประชุม 23 มกราคม 2567 ตามที่ผู้ควบคุมงาน สถาปนิกและวิศวกร มีคำสั่งให้ผู้รับจ้างเสริมความมั่นคงแข็งแรงของชุดโครงหลังคาทั้งมุขปั้นหยา มุขหน้า มุขหลังโดยการเสริมเหล็กรูปพรรณขนาด และไม้ขนาด โดยไม้ที่ใช้ค้ำยันได้นำเสาของไม้เดิม สภาพใช้งานได้ มาเลื่อยตามขนาดที่ต้องการใช้จากนั้นนำไม้มาปรับไส บาก เพื่อรองรับจันทัน ขื่อ และอเส
การขยายครั้งที่ 3 ตามมติที่ประชุม 23 มกราคม 2567 ตามที่ผู้ควบคุมงานได้ส่งหนังสือพร้อมรูปถ่ายเดิมที่แสดงรูปแบบงานคานไม้ ตงไม้ บริเวณระเบียงหน้า มีรูปแบบไม่ตรงกับรูปแบบที่กำหนด คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานคานไม้ ตงไม้ระเบียงหน้าให้ตรงตามรูปถ่ายของเดิม และงานเสริมไม้ตงไม้ให้เสมอขอบนอกของเสาเพื่อรองรับส่วนปลายของไม้พื้นจึงทำให้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างไปอีก 51 วัน (9 พค 67)
3. เรื่องสีของตัวอาคาร คณะกรรมการขอความเห็นของภาคประชาชนให้พิจารณาเบื้องต้น โดยคณะกรรมการจะลงสี 3 มิติ อยู่ 2 รูปแบบคือ
3.1 สียุคสุดท้าย (ภาพจำ)
3.2 สีที่ได้จากการขูดชั้นสียุคแรก(หลักฐานเดิม)
ซึ่งจะมีการนำเสนอในครั้งต่อไป
4. หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวันเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาสวนรุกขชาติเชตวัน และขอความร่วมมือตอบแบบสอบถามความพึงพอใจและความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการของสวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ เพื่อนำข้อมูลไปเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป
นายเกรียงศักดิ์ ปลอดโปร่ง ผู้รับเหมาสีขาว หจก.ช่อฟ้าก่อสร้าง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างล่าช้าออกมาเนื่องจากเป็นการก่อสร้างอาคารเก่าแต่จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้อย่างแน่นอน
นายธนิต สมสมัย ประธานชุมชนเชตวัน กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับการฟื้นฟู ขั้นตอนการก่อสร้างมีการรายงานให้ชุมชนรับทราบเป็นระยะๆ พร้อมให้มีส่วนร่วมเสนอแนะการพัฒนาโครงการ/
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: