เวลา 18.00 น.วันที่ 16 เมษายน ชาวบ้านวังหงษ์ ตำบลวังหงส์ อ.เมือง จ.แพร่ ได้ประกอบพิธีรดน้ำดำหัวหงส์ที่อนุสรณ์สถานตำนานหงส์ ริมหนองหงส์ แม่น้ำยม โดยมีนายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธี โดยมีนายเอกชัย หงส์อ้าย นายกเทศมนตรีตำบลวังหงส์ ให้ข้อมูลความเป็นมาของชาววังหงส์ที่ยึดถือหงส์เป็นสัตว์นำโชค จากการตั้งถิ่นฐานเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำยมมีหงส์อาศัยอยู่ เมื่อคนเข้ามามากขึ้นหงส์ก็หายไป แต่ชาวบ้านยังผูกพันกับสัตว์ป่าถือเป็นสัตว์ที่นำโชคมาสู่ผู้คน จนในที่สุด หงส์ กลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ จนสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นมาและในสมัยรัชกาลที่5 มีการขนานนามสกุลผู้คนในหมู่บ้านใช้คำว่าหงส์เป็นชื่อสกุลทั้งหมู่บ้าน
นายกฤษฎา อินทราวุธ ประธานป่าชุมชนตำบลวังหงส์ กล่าวว่า 200ปีมาแล้ว ชาวบ้านน้ำคือ ชาวบ้านเชตวัน ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ออกมาหาพื้นที่ทำกินตั้งรกรากใหม่ มาพบฝูงหงส์เล่นน้ำอยู่บริเวณริมน้ำยม เมื่อชาวบ้านมามากขึ้นหงส์ก็อพยพหนีไปชาวบ้านจึงเรียกบริเวณที่หงส์เล่นน้ำอยู่ชื่อว่า “หนองหงส์” ช่วงรัชกาลที่ 5 มีพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่เกิดขึ้นมีการตั้งชื่อหมู่บ้านจึงใช้ชื่อว่า “บ้านวังหงส์” ชาวบ้านวังหงส์มีความผูกพันกับฝูงหงส์ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านจะมีพิธีรดน้ำดำหัวหงส์ กิจกรรมนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 40 ปี เป็นประเพณีเล็กๆที่ชาวบ้านทำกันแต่ต่อมามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาประเพณีนี้ให้ใหญ่ขึ้น ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านเชื่อว่าถ้าได้มาดำหัวหงส์แล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข เวลาจะเดินทางไปแห่งหนตำบลใดเพื่อให้คลาดแคล้วต่อภยันอันตรายชาวบ้านมักมา กราบไหว้อนุสรณ์สถานหงส์แห่งนี้ จนกลายเป็นประเพณีทุกวันที่ 16 เมษายนของทุกปีในเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านจะประกอบพิธีรดน้ำดำหัวหงส์ทั้งหมู่บ้าน
ความผูกพันกับหงส์มากกว่าสิ่งนำโชคเสียอีก ชาวบ้านใช้คำว่าหงส์เป็นข้อความในนามสกุลของแต่ละครอบครัว มีการตั้งนามสกุลของทุกครอบครัวในหมู่บ้านโดยใช้คำว่าหงส์ตามด้วยลำดับเช่นหงษ์ 1 หงส์ 2 มีจนถึงหงส์ 42 แต่ปัจจุบันเหลือเพียงหงษ์ 39 เนื่องจากผู้คนล้มหายตายจากกันไปไม่มีผู้สืบสกุล ต่อมามีการขนานนามสกุลเพิ่มโดยใช้คำว่าหงส์นำหน้า เช่น หงส์อ้าย ต่อมามีคนในชุมชนตั้งนามสกุลใช้คำว่าหงส์ต่อท้าย เช่น สุวรรณหงส์
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้การจัดเทศกาลสงกรานต์ของชาวบ้านวังหงส์มีการรดน้ำดำหัวหงส์อย่างมีความหมายผูกพันกับชีวิตวงศ์ตระกูลและที่มาของถิ่นที่อยู่ที่เคยมีหงส์อาศัยอยู่ ณ ริมแม่น้ำยม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเพณีสงกรานต์รดน้ำดำหัวหงส์ของชาวบ้านวังหงส์กลายเป็นจุดสำคัญของความผูกพันกับสัตว์ป่าธรรมชาติแม่น้ำยมกับการทำมาหากินของชาวบ้านที่เชื่อมโยงเหนียวแน่นผ่านเครือญาติวงศ์ตระกูลที่มีชื่อหงส์ปรากฏอยู่
ในปีนี้จังหวัดแพร่ได้ยกระดับประเพณีของชาวบ้านวังหงส์ให้เป็นประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดแพร่ ที่มีความหมายเชื่อมโยงผูกพันกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติกับชีวิตผู้คนอย่างเหนียวแน่นซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสนใจกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนจังหวัดแพร่ในฤดูร้อนช่วงสงกรานต์นี้เป็นอย่างมาก/
ข่าวน่าสนใจ:
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
- นครพนม น้องขวัญ นำทัพกลุ่มนครพนมร่วมใจ เปิดตัว ส.อบจ.นครพนม ทั้ง 30 เขต
- นายกฯ พบปะนักเรียนจากทั่วอีสาน ชูโครงการ "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" เพิ่มโอกาสชีวิต
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: