X

บุหรี่ไฟฟ้าครองใจนักสูบหน้าใหม่ สัญญาณอันตราย เมืองแพร่รอวิกฤตทางสังคม

ผู้เสพอายุน้อยถึงระดับประถมฯ สัญญาณอันตรายถึงสังคมในอนาคตที่แพร่จะเป็นเมืองผู้สูงอายุคนวัยทำงานมีน้อยในขณะเดียวกันประชากรวัยแรงงานอาจกลายเป็นผู้ป่วย งานวิจัยระบุว่าควันจากบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่า pm2.5 แทรกซึมเข้าร่างกายได้ลึกกว่าอันตรายที่สุด ในขณะที่เด็ก ๆ เข้าใจว่าปลอดภัย จังหวัดเร่งกวดขัน กลุ่มโรงเรียนมัธยมกว่า 24 โรงเรียนวางแผนสู้

สถานการณ์วัยรุ่นติดยาเสพติดและเสพบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นในสังคมเมืองแพร่ทั้งในชนบทและชุมชนเมืองพบว่ามีกระแสแรงไม่แตกต่างกัน ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าตกใจ วันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นำกำลังเข้ากวาดล้างตามหนังสือร้องเรียนแจ้งเบาะแสผ่านศูนย์ดำรงธรรม สามารถจับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์น้ำยาเติมที่มีกลิ่นและรสชาติแบบต่าง ๆ กัน ได้ของกลางจำนวนมาก แหล่งจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้อยู่ในย่านกาดน้ำทอง การตรวจยึดจับกุมครั้งนี้ของกลางมีมูลค่ากว่า 9 แสนบาท
นอกจากร้านจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว การค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่วัยรุ่นนิยม คือการสั่งซื้อทางออนไลน์ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ทางจังหวัดแพร่ ไม่ได้นิ่งนอนใจได้กวาดล้างจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่าย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นสิ่งเสพติดและผิดกฎหมาย อยากให้ผู้ปกครองได้ช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมของเยาวชนที่เข้ามาเรียนในเมืองห่างไกลผู้ปกครอง

นายธานี แก้วแกมเกตุ ครูโรงเรียนเจริญราษฎร์ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษา จ.แพร่ กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดแพร่ ปัจจุบันเข้าไปสู่นักเรียนในระดับประถมศึกษา มีการแชร์เงินกันไปซื้อมาแล้วสูบร่วมกัน ส่วนเด็กมัธยมแอบซื้อจากการรวบรวมค่าขนมที่ผู้ปกครองให้มา นักศึกษาที่โตขึ้นมาก็สามารถซื้อได้ ในการสุ่มตรวจหอพักเด็กหรือแหล่งรวมของเด็กจะพบว่ามีบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ด้วยทุกแห่ง อายุน้อยสุดที่พบ มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในระดับ เด็ก ชั้น ป.3 จากสถิติเด็ก 100 คน พบมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 50

ในขณะเดียวกัน นางสาวกัญญานันท์ ตาทิพย์ เครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนาไปถึงเจ็นที่ 5 แล้ว ผลิตภัณฑ์บุหรีไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ จะมีความแรงเท่ากับบุหรี่ปกติ 1 ซอง เจ็น2 จะมีความแรงเท่ากับบุหรี่ 40 มวลหรือ 2 ซอง เจ็น3 มีความเข้มข้น 65 มวล เจ็น 4 ถึงเจ็น 5 คือปัจจุบัน จะมีความเข้มข้นกว่าบุหรี่ปกติ 4.5 เท่า และที่สำคัญควันบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่า ฝุ่นขนาด pm 2.5 ฝุ่นควันของบุหรี่ไฟฟ้าจึงสามารถแทรกซึมเข้าไปในร่างกายได้มากกว่าลึกกว่า สถิติผู้ป่วยมะเร็งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าจับตาดูอีก 5 ปี มะเร็งจะเกิดในเด็กอายุ 14-15 ปี มาจากกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่องจะมีแนวโน้มเป็นระเร็งปอดสูงขึ้นเรื่อย ๆ เด็กเหล่านี้เกาะกลุ่มกันเสพบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า อาการทางจิตประสาท จะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนต้องกลายเป็นภาระของสังคมเมืองแพร่ และที่สำคัญแพร่กำลังเช้าสู่เมื่องที่มีผู้สูงอายุ ร้อยละ 45 ในอีก 6 ปีข้างหน้า
สถานการณ์เช่นนี้ จังหวัดแพร่กำลังเข้าสู่สภาวะเสียงอย่างมากถ้าไม่มีการแก้ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชน

โครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ป้องกันภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้าและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในโรงเรียน จ.แพร่ นายมหินทร์ จันทรสาขา ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชนในจังหวัดแพร่ น่าเป็นห่วงมาก หลายฝ่ายได้จับมือกันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สำนัก 1 ) จับมือกันระหว่างหน่วยงานราชการคือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตการศึกษามัธยมศึกษาแพร่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดแพร่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ สํานักงานท้องถิ่นจังหวัดแพร่ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแพร่ อบจ.แพร่ เทศบาลเมืองแพร่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ และโรงพยาบาลแพร่ จับมือทำงานร่วมกันภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน สสส

นายมหินทร์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนในยุคปัจจุบันจะส่งผลกระทบไปถึงสังคมผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงถ้าอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้าประชากรผู้สูงอายุของจังหวัดแพร่ จะขึ้นเป็น 45 % เยาวชนมีส่วนสำคัญในอนาคตที่จะพัฒนาเมืองแพร่ ดังนั้นจะต้องมองไปที่การพัฒนาคนและลดการสูญเสียคนของจังหวัดแพร่ไป บุหรื่ไฟฟ้าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้องๆ ของเรามีปัญหาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตในอนาคต การทำงานในโครงการระยะ 2 ปีจะส่งเสริมให้เยาวชนในยุคปัจจุบันมีความเข้มแข็งมีวิจารณญาณ มีทัศนคติที่เป็นเกราะป้องกัน มีหลักคิดในชีวิตที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพมีคุณค่า ดูแลตัวเองชั่งน้ำหนักได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรอะไรไม่ควร เป็นการสร้างพื้นฐานของการเป็นพลเมือง ทำให้คนรุ่นใหม่ไปเติมเต็มให้กับสังคมในอนาคตแข็งแรงขึ้น

แผนงานโครงการดังกล่าวได้เริ่มทำงานกับครูใน 24 โรงเรียน แห่งละ 2 คน กลับไปหาแกนนำนักเรียนอีกโรงเรียนละ 30 คน เพื่อค้นหาแกนนำอย่างน้อย 5 คน จากนั้นบทบาทจะเป็นของแกนนำนักเรียนจะทำกิจกรรมเพื่อขยายผลไปยังกลุ่มเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน โดยมีแกนนำครูเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ในโรงเรียน

เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในการแก้ปัญหาในแบบฉบับของเยาวชนเอง ซึ่งครูเป็นเพียงพี่เพี้ยงขยายผลไปสู่นักเรียนทุกคนในโรงเรียน ซึ่งความคาดหวังของโครงการฯ เด็ก ๆ ที่เป็นแกนนำจะสร้างกิจกรรมเพื่อการแก้ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนด้วยตัวของเขาเอง

ในแผนงานนี้ ยังมีการสร้างภาคีความร่วมมือพัฒนาเด็กเยาวชน อาทิ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)ภาคเหนือตอนบน เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กลุ่มผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ เรือนเพาะชำ

จากสถานการณ์ทั่วไปในจังหวัดแพร่ ผู้ปกครองไม่ว่ามีฐานะหรือผู้มีรายได้น้อย ต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถ้วนหน้า โครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ป้องกันภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้าและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในโรงเรียน เป็นความหวังใหม่ของผู้ปกครองและคณะครูที่พยายามจะแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นทางออกที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และโครงการนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร ถือว่าเป็นเครื่องท้าทายกับสถานการณ์ทางสังคมของจังหวัดแพร่อย่างมากที่จำเป็นต้องมีเยาวชนคนรู้ใหม่ที่ฝากอนาคตได้ /

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน