สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ นำโดยนายวีระชัย เข็มวงษ์ เกษตรจังหวัดแพร่ วางแผนการส่งเสริมปลูกพืชและฟื้นฟูพืชท้องถิ่นรวมทั้งพืชที่ประชาชนปลูกจนคุ้นชินอยู่แล้วรวมทั้งเหมาะสมกับพื้นที่ แต่ขาดการส่งเสริมนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้ พืชเป้าหมายนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรแบบครบวงจร พืชที่หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาต่อคือ กาแฟ และ ต้นห้อม
นายวีระชัย เข็มวงษ์ เกษตรจังหวัดแพร่ กล่าวว่า พืชทั้งสองชนิด เดิมเกษตรกรชาวแพร่ มีการปลูกมามานานแต่ไม่ได้รับการพัฒนา ในขณะเดียวกันพืชทั้งสองชนิดนี้มีฐานการแปรรูปและการใช้มาก พร้อมทั้งให้มูลค่าเพิ่มที่สูงมากกว่าพืชเชิงเดี่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบัน กาแฟนั้นในจังหวัดแพร่ มีพื้นที่เป็นภูเขาโดยเฉลี่ยมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 – 1,200 เมตร ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกอย่างมากเกษตรกรปลูกกาแฟทั้งพันธุ์อาราบิกา และ โลบัสต้า ให้ผลผลิตดี แต่เนื่องจากไม่มีการส่งเสริมที่ดีพอทำให้เกษตรกรเก็บเมล็ดกาแฟที่ไม่เหมาะสมจนทำให้กาแฟในพื้นที่จังหวัดแพร่ มีราคาต่ำมาก เพียงนำนักวิชาการเกษตรและนักขาย กิจการกาแฟ เข้าไปส่งเสริมแนะนำให้ช่องทาง พร้อมทั้งกระตุ้นให้เห็นความสำคัญทำให้กาแฟไม่ใช่พืชปลูกแซมอีกต่อไปแต่จะกลายเป็นพืชทำเงินหลักๆ ให้กับเกษตรกร เช่น การเลือกใช้สายพันธุ์ การดูแล การเก็บเมล็ดในขณะที่ผลกาแฟสุกเต็มที่ การทำความสำอาด การเก็บเมล็ดจากเชอร์รี่ แปรรูปจนเป็นสาร และนำไปคั่วบด เมื่อเกษตรกรมีความเข้าใจในการทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพ เท่านี้เอง ผลผลิตกาแฟเมืองแพร่ก็จะกลายเป็นสินค้าพรีเมี่ยม แพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟปลูกได้เหมาะสมทุกอำเภอแต่มีผู้สนใจปลูกใน อ.เมือง อ.เด่นชัย อ.ร้องกวาง อ.สอง และ อ.ลอง ตามลำดับ
ส่วนต้นห้อม เป็นพืชที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติในพื้นที่ป่าที่มีความชื่นของจังหวัดแพร่ ห้อมในจังหวัดแพร่มีสองสายพันธุ์ คือ พันธุ์ใบใหญ่ และ ใบเลียวเล็ก เมื่อนำไปหมักน้ำ เข้าสู่กระบวนการทำสีย้อมผ้า ทั้งสองสายพันธุ์ใช้ได้ แต่ชาวแพร่นิยมพันธุ์ใบใหญ่มากกว่า ห้อมคือพืชย้อมผ้าที่มีชื่อเสียงจนคนต่างถิ่นที่นิยมใส่เสื้อย้อมสีจากต้นห้อม รู้จักเสื่อพื้นเมืองของแพร่คือ “เสื้อห้อมห้อม” ปัจจุบันห้อมมีในธรรมชาติลดลง ทางออกที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนวิธีการหันมาปลูกและสร้างผู้ประกอบการทำหมึกย้อมผ้าจากห้อมเพื่อป้อนอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่ ปัจจุบันเสื้อหม้อห้อมทำรายได้ให้กับชาวแพร่ ทำเงินรายได้เข้าจังหวัดปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 100-200 ล้านบาท แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพืชชนิดนี้เท่าที่ควร
สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ จึงคิดวิธีการกระตุ้น คือการจัดงานส่งเสริมการปลูกห้อมและกาแฟขึ้นมา ที่บ้านนาคูหา ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ “เทศกาลกลิ่นไอโอโซน กาแฟร้อยปี ของดีเมืองแพร่” งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีนายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ไปเป็นประธานเปิดงานกและร่วมชมงานตลอดทั้งวัน ซึ่งได้ผลมากในการกระตุ้นให้เกษตกรหันกลับมาให้ความสำคัญกับพืชทั้งสองชนิด ซึ่งจะมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายสำคัญคือร้านกาแฟสดในจังหวัดแพร่ ควรมีกาแฟแพร่ไว้บริการลูกค้าในร้าน และ ควรทำให้กาแฟแพร่กลายเป็นสินค้าส่งออก ในขณะเดียวกันห้อมนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้วแต่ทำอย่างไรให้เกษตรกรดูแลรักษาและปลูกเป็นแปรรูปเป็นจนส่งผลถึงรายได้ ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้เชื่อว่าจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืน พร้อมทั้งไม่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก อีกทั้งกาแฟและห้อมที่ปลูกอยู่ด้วยกันได้ จะเป็นพืชที่ป้องกันการเผาป่าและทำให้ธรรมชาติของจังหวัดแพร่ ดีขึ้นอีกด้วย เชื่อว่าหลังการส่งเสริมเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการผลิตไม่น่าจะน้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อไป โดยเม็ดเงินที่เข้ามานอกจากผู้ประกอบการร้านกาแฟ ผู้จำหน่ายเมล็ดกาแฟ คนทำเสื้อห้อมห้อม แล้วมั่นใจว่ารายได้จะถึงมือเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน
นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ขณะนี้แพร่มีเป้าหมายทำการเกษตรแบบอินทรีย์อยู่จำนวน 3,000 ไร่ แต่ขณะนี้การพัฒนาพืชที่ไม่ใช้สารเคมีกำลังเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอินทรีย์ งาอินทรีย์ ผักอินทรีย์ สมุนไพร กล้วยน้ำว้าอินทรีย์ส่งออก การส่งเสริมการปลูกห้อม และ กาแฟ ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรใช้สารเคมี ซึ่งนอกจากทำรายได้แล้ว แพร่จะกลายเป็นเมืองที่ปลูกพืชอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ไปจนถึงปี 2564 แพร่จะพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองสุขภาพวะผู้สูงอายุ เป็นเมืองที่ผู้สูงอายุเข้ามาเที่ยวมาพักผ่อน รวมทั้งในจังหวัดแพร่เองมีสถิติของผู้สูงอายุติดอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งจำเป็นมากที่ต้องเป็นเมืองที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ นายพงษ์รัตน์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: