ประชาสังคมภาคเหนือ ใช้โอกาสช่วงเลือกตั้งดันนโยบายรัฐสวัสดิการ ประชุมร่วมเครือข่ายภาคเหนือบนชี้ให้เห็นช่องโหว่หลักประกันสุขภาพและความไม่เท่าเทียม ยังต้องปรับแก้แต่พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญเท่าการสาดโคลนป้ายสีกันจนลืมกำหนดนโยบายสุขภาพสวัสดิการแบบเท่าเทียมของประชาชน
ในช่วงที่มีการหาเสียงของนักการเมืองทั่วประเทศกำลังคึกคัก พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาประกาศนโยบายช่วยเหลือชาวบ้านกันยกใหญ่ เน้นไปที่การจัดการงบประมาณ การลดกำลังทหารเพื่อนำเงินมาพัฒนาด้านอื่นๆ ให้กับประชาชน ในขณะที่ประชาชนในหลายกลุ่มมองว่าการแก้ปัญหาหรือแนวทางนำเสนอของนักการเมืองยังเดินไปไม่ตรงประเด็นไม่ตรงจุดความต้องการและมีประเด็นการหาเสียงน้อยมากที่จะต่อยอดกับฐานการพัฒนาที่มีประโยชน์อยู่แล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีการประชุมระดับเขตระหว่างศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพฯ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ตามมาตรา 50 (5) และเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โดยมีประสังคมในภาคเหนือ 8 จังหวัดได้แก่ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และ เชียงใหม่ ที่โรงแรม อโมร่า อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ที่ประชุมได้กล่าวถึงแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ในปี 2562 การขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่สำคัญ รวมทั้งความก้าวหน้าของ 3 กองทุน คือกองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุน LTC และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ (ผู้พิการ) งานด้านส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งมีเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้รู้เข้าร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนายกระดับไปอีก รวมถึงสถานการณ์การทำงานที่มีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพเขต 1 ในกลุ่มควบคุมคุณภาพมาตรฐานภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) เป็นภาพรวมใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ประชุมมองว่า กลุ่มผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารประเทศอาจมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปท่ามกลางการแข่งขันการหาเสียงเลือกตั้ง
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึง การออกกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคและการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้งPPA และPPB โดยเครือข่าย –ภาคประชาชนที่ได้รับงบประมานสนับสนุนจากPPA ในนามของคนรักหลักประกันสุขภาพ ติดตามประเด็นของหลักประกันสุขภาพ ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะติดตามนโยบายที่หาเสียงออกมาของพรรคการเมืองต่างๆ เห็นว่ายังให้น้ำหนักกับเรื่องเหล่านี้น้อยมาก
สถานการณ์ของการใช้จ่ายงบประมาณมักมีคนบอกว่า งบประมาณเหลือส่งงบประมาณคืนไป อันที่จริงแล้วยังอยู่ ค่าใช้จ่ายรายหัว 3,000 – 4,000 บาท ไม่มากเลยสำหรับค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อที่จะดูแลรักษาสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องไม่มีการยกเลิกหรือล้มเลิกไป ถ้ามีคนมาพูดว่าระบบหลักประกันสุขภาพใช้จ่ายมากไป ถือว่าผู้นั้นไม่ได้สนใจชีวิตของประชาชนเลย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขอยืนยันและเรียกร้องให้มีระบบนี้ต่อไปโดยเครือข่ายภาคประชาชนจะเป็นฝ่ายจับตามอง
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กล่าวว่า ภาคประชาชนถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบติดตามการทำงานของหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจการคุ้มครองสิทธิ์การรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับระบบรวมทั้งบทบาทในการเข้าไปร่วมกับหน่วยบริการทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีการประชุมอย่างต่อเนื่องในการติดตาม การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อกลางปี 2561 ซึ่งพบว่าห้วงเวลาที่ผ่านมามีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งประชาชนอาจตามสถานการณ์ไม่ทัน การประชุมร่วมกันก็หวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อนำไปสื่อในแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น เช่น โรงพยาบาลประกาศเรียกเก็บค่าบริการนอกเวลา ถามว่าเรียกเก็บได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เพราะประชาชนไม่สามารถเลือกเวลาเจ็บป่วยได้ การเจ็บป่วยและเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ตนมีสิทธิ์รับบริการในช่วงนอกเวลา ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการเรียกเก็บทำได้เพียง 30 บาท ตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ตัวอย่างแบบนี้ถ้าสามารถกระจายความรู้ให้เครือข่ายทราบจะทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ป่วยได้
และในโอกาสนี้เป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. มีรัฐบาลใหม่ เครือข่ายอยากเห็นระบบสุขภาพของคนทั้งประเทศไม่ใช่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีระบบสุขภาพ 3 ระบบด้วยกัน คือ ระบบหลักประกันสุขภาพที่จ่าย 30 บาทที่เราเข้าใจกัน ระบบราชการ และ ระบบประกันสังคม ต้องยอมรับว่าทั้ง 3 ระบบมีความแตกต่างกัน วันนี้พรรคการเมืองที่ออกมาหาเสียงเลือกตั้งไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เครือข่ายอยากเห็นทุกระบบที่มีความเท่าเทียมกัน คนในสังคมไทยควรได้รับการรักษาที่ได้รับมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน และ คนไทยบนผืนแผ่นดินไทยที่ยังไม่มีเลข 13 หลักในบัตรประชาชน ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่คนไทย ดังนั้นควรทำให้คนเหล่านี้ได้เข้าถึงสิทธิ์ เรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นประเด็นที่ พรรคการเมืองต่างๆ ควรเอาไปกำหนดเป็นนโยบายแทนการป้ายสีโจมตีกันจนกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อไปแล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: