X

จี้ ตู่เร่งคลอดกฏหมายบำนาญผู้สูงอายุ

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีประชากรจำนวนมากที่เข้าสู่วัยชราแล้วไม่สามารถยังชีพได้ด้วยตนเองเนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีพอ สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ในด้านคุณภาพชีวิตของประชากรที่เข้าสู่วัยชราภาพ

ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิ์ประชาชนในภาคเหนือ พยายามขับเคลื่อนพัฒนากฎหมายบำนาญชราภาพ โดยยึดหลักการค่าครองชีพขั้นต่ำ หรือเส้นขีดความจนของประชาชนในประเทศไทยที่คิดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นค่าครองชีพขั้นต่ำสุดของประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่สามารถนำไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแต่สามารถเป็นพื้นฐานการครองชีพได้ระดับหนึ่ง ร่างกฎหมายถูกส่งผ่านไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติปัจจุบัน ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการประกาศออกใช้เป็นกฎหมาย แต่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ถูกประกาศเป็นกฎหมายออกใช้ตามขั้นตอน จนขณะนี้อายุของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ รัฐบาลชุดปัจจุบันมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว


นางสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ด้านเอดส์ กล่าวว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าว จะใช้เงินให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ถือเป็นการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้า โดยใช้งบประมาณจากเงินภาษีมาจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ด้วยหลักคิดว่าผู้สูงอายุทุกคนควรมีหลักประกันด้านรายได้ในการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นการเสนอให้มีการจ่ายเป็นเงินบำนาญรายคนจำนวน 3,000 บาทที่ทำให้มีชีวิตรอดอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก โดยมองจากเส้นขีดความจนของประเทศไทยมีรายได้อยู่ที่ เดือนละ 2,900 บาท


นายศรัณรัชต์ สายญาติ ผู้ประสานงานคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคจังหวัดแพร่ จังหวัดแพร่ อยากเห็นผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีพยายามหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดการพัฒนากฎหมายบำนาญให้กับผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายของชีวิตอย่างไม่ลำบากมากนักในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้และไม่มีการวางแผนงบประมาณในบั้นปลายชีวิตไว้ก่อน ซึ่งถ้าปล่อยไปจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต


นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากุล ผู้อำนวยการมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ฝากถึงรัฐบาลปัจจุบันทำอย่างไรให้เกิดการผลักดันกฎหมายดีๆ ที่ประชาชนช่วยกันผลักดัน กฎหมายบำนาญชราภาพมีการพิจารณาผ่านสภานิติบัญญัติรอรัฐบาลนำเสนอทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แต่ปรากฎว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำเข้าพิจารณาและมีมติรับรองแล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้กลับเงียบหายไป ก็เลยไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดนี้เห็นความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้หรือไม่อย่างไร หรือต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังแต่งตั้งนำทูลเกล้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยประกาศออกเป็นกฎหมายต่อไปหรืออย่างไร การทำให้กฎหมายดังกล่าวเงียบหายไปบ่งบอกถึงความไม่จริงใจในการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมองเป็นปัญหาอยู่ในอนาคตและเป็นความต้องการของประชาชนแต่รัฐบาลกลับนำไปซุกไว้ไม่ประกาศใช้ นางสุภาพรกล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน