ชัยภูมิ – ซึ่งเป็นการช่วยให้มีน้ำประปาไม่ขาดแคลนนำร่องในจุดแรกในหน้าแล้งปี 63 นี้ได้แล้ว ในเฟสแรกใน 4 ตำบล เริ่มเห็นผลหลังวางแผนขุดลอกคลองเทามานานข้ามปี เพื่อหวังไว้เป็นแหล่งรองรับน้ำมาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาวในปีนี้ได้เริ่มเห็นผล หลังชาวบ้านต.หนองไผ่ที่อยู่ท้ายน้ำเขื่อนลำปะทาวที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาต้องประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำประปาหนักเพราะน้ำส่งผ่านมาไม่ถึงคนท้ายน้ำมาซ้ำซากเดือดร้อนทุกปี แต่ปีนี้การขุดลอกคลองเทาผ่านพาน้ำไหลผ่านมาได้ถึงชุมชนตัวเองได้แล้วซึ่งจะไม่ต้องขาดแคลนน้ำในจุดนี้อีกแล้ว ผลจากการออกมาร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายของชาวเมืองชัยภูมิทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้มาก 80 % ในปีนี้เตรียมขยายผลเฟสสองอีก 4 ตำบล เพื่อนำร่องขยายผลอีกต่อเนื่องเป็นโมเดลต้นแบบในทั่วประเทศต่อไป!
( 23 ม.ค.63 ) ที่จ.ชัยภูมิ สถานการณ์ภัยแล้งยังคงขยายวงในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่โซนเศรษฐกิจเขตอ.เมืองชัยภูมิ ที่ทางจ.ชัยภูมิ ได้มีการเร่งหาแนวทางการแก้ปัญหาเตรียมรับมือภัยแล้งปีนี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้มาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะไม่ให้ทุกพื้นที่ขาดแคลนน้ำโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะน้ำประปา เพื่อการอุปโภคบริโภค ไปให้ได้ก่อนเป็นหลักในปีนี้
ข่าวน่าสนใจ:
และในส่วนภาคการทำการเกษตรทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือประชาชนในทุกพื้นที่ให้ช่วยกันงดปลูกพืชใช้น้ำมากโดยเด็ดขาดทั้งหมดไว้ก่อนในปีนี้ด้วย เพราะต้นทุนน้ำที่เหลือทั้งหมดในจังหวัดชัยภูมิ ทั้งในเขื่อนและแหล่งเก็บน้ำหลักของจังหวัดกว่า 13 แห่ง ใน 16 อำเภอ เหลือเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องเหลือน้อยมากกว่าทุกปีในรอบหลายสิบปีอย่างเป็นเคยเป็นมาก่อน ที่น้ำเก็บกักไว้ได้ล่าสุดเหลือไม่ถึง 10-20 %แล้ว
ขณะที่ด้านการแก้ไขปัญหาแหล่งเก็บน้ำดิบไว้เพื่อรองรับการผลิตประปาในพื้นที่เขตอ.เมืองชัยภูมิ หลังเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและยกให้จ.ชัยภูมิ เป็นต้นแบบโครงการโมเดลนำร่องการขุดลอกคลองเทา เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม อย่างยั่งยืนและให้ขยายผลไปในทั่วประเทศให้มากขึ้นด้วย
ล่าสุดวันนี้ทางด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจ.ชัยภูมิ พร้อมด้วยนายอนุชา เจริญรักษ์ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ พร้อมด้วยตัวแทนประชาชน ผู้นำชุมชน จาก 8 ตำบล นำร่องโครงการโมเดลต้นแบบแก้ปัญหาภัยแล้งของเขตอ.เมืองชัยภูมิ กว่า 500 คนได้เดินทางมาร่วมกันประชุมหารือเพื่อขยายผลโครงการเพิ่มเติม ที่บริเวณคลองเทา บ้านหนองแหน ต.หนองไผ่ อ.เมืองชัยภูมิ จุดที่นายกฯพลเอกประยุทธ์ฯเคยเดินทางมาตรวจเยี่ยม
เพื่อร่วมกันนำเครื่องจักรและแรงงานเข้ามาช่วยกันปิดหน้างานโครงการขุดลอกคูคลองเทาในจุดนี้ในแผนระยะแรก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซากของจังหวัดชัยภูมิ มายาวนานจนปัจจุบัน ได้เป็นผลสำเร็จซึ่งในจุดแรกนี้ในรอยต่อของ 4 ตำบลนำร่อง โดยนายทนงศักดิ์ คณะเจริญ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองชัยภูมิ ในฐานะตัวแทนเทศบาลเมืองชัยภูมิ และคณะทำงานหลักของโครงการโมเดลต้นแบบในครั้งนี้ เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการต้นแบบโมเดลของจ.ชัยภูมิ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการไปขยายผลในอีกหลายพื้นที่และทั่วประเทศได้ หลังทางนายกรัฐมนตรีเดินทางมาตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา
ซึ่งโครงการนี้ได้เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ของชาวเมืองจ.ชัยภูมิ ที่ได้เริ่มมีการลง MOU ร่วมกันขึ้น มาตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ที่มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากหนักมาตลอดยาวนาน ที่จะอยู่ในพื้นที่รอยต่อ ตั้งแต่เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ,ต.โพนทอง,ต.กุดตุ้ม,ต.บุ่งคล้า และมาที่ต.หนองไผ่ ที่เป็นพื้นที่ตำบลท้ายสุดของสายน้ำเขื่อนลำปะทาวไหลผ่าน ที่ทุกปีที่ผ่านมา เวลาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ และต.โพนทอง,ต.กุดตุ้ม,ต.บุ่งคล้า ก็จะมีการผลักดันน้ำออกมาท่วมที่ต.หนองไผ่
แต่เวลาพอถึงหน้าแล้ง ตำบลต้นๆน้ำก็ส่งน้ำมาไม่ถึงต.หนองไผ่ ที่ก็ไม่มีคูคลองช่วยเก็บน้ำไว้ได้ซ้ำซากมาทุกปี ดังนั้นจากการออกมาร่วมแรงร่วมใจกันบูรณาการกันช่วยกันขุดลอกคลองเทา ให้มาถึงตำบลหนองไผ่ ในปีนี้ จึงเริ่มเกิดขึ้น เพราะทุกหน้าแล้งทุกปี ชาวตำบลหนองไผ่จะเดือดร้อนไม่มีน้ำประปาใช้เป็นจำนวนมากหลายหมู่บ้านมาตลอด
ซึ่งทางจังหวัดชัยภูมิ และอำเภอเมืองชัยภูมิ รวมทั้งภาคเอกชนทุกภาครัฐของชาวจังหวัดชัยภูมิ จึงได้มาช่วยกันริเริ่ม โดยให้ทางจังหวัดเป็นแกนนำในการร่วมลง MOU บันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าให้ทางเทศบาลเมืองชัยภูมิ และ อบจ.ชัยภูมิ ที่ไม่ใช่พื้นที่ของเทศบาลเอง ให้สามารถนำเครื่องจักรมาช่วยงานนอกพื้นที่ได้ และทางท้องถิ่น อบต.,เทศบาลตำบล เองที่มีงบประมาณไม่เพียงพอก็จะมาช่วยกันเรื่องค่าน้ำมัน ทางชาวบ้าน และตัวแทนภาคเอกชนก็จะพากันเข้ามาช่วยเรื่องแรงงาน ประกอบอาหารเลี้ยงคนงาน คนที่มาช่วยทำงานขุดลอกคลองเทาในจุดนี้มาต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับภัยแล้งมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา
ซึ่งผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 ในปี 2562 ที่ผ่านมาสามารถขุดลอกให้เป็นคลองได้ครอบคลุมทั้ง 4 ตำบลเป็นความยาวมาแล้วได้มากกว่า 21.8 กิโลเมตร ใช้งบเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณเพียง 1.3 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากขุดลอกโดยวิธีการจ้างเหมาต้องใช้งบประมาณสูงมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป จนครั้งนี้ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณทางราชการได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันสามารถขุดลอกคลองเทาให้เกิดความลึกมากขึ้นกว่า 8 เมตร ความกว้างกว่า 30-32 เมตร และขยายไหลทางริมตลอดคลองจาก 4 เมตร เป็น 9 เมตรได้เพิ่มมากขึ้น
และถือว่าโครงการโมเดลต้นแบบนำร่องขุดลอกคลองเทาในรอยต่อ 4 ตำบล จุดแรกเป็นที่สำเร็จเห็นผลแล้วในครั้งนี้ต้นปี 63 ที่สามารถส่งน้ำผ่านจากลำปะทาวระยะทางไกลกว่า 45 กม.มาเข้าคลองเทาในปัจจุบันได้อีกมากว่า 4.8 แสน ลบ.ม.เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ด้านการประปาให้กับชาวต.หนองไผ่ ในต้นปี 2563 นี้ไม่ขาดแคลนน้ำซ้ำซากเหมือนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทั้งหมดได้เป็นผลสำเร็จแล้ว รวมทั้งในเวลาหน้าน้ำท่วมมาส่วนการขุดลอกคลองเทาที่เห็นนี้ทั้งหมดยังจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองชัยภูมิ ในปีต่อไปได้อีกด้วย
และครั้งนี้จากนี้ต่อไป โครงการนี้ต้องยอมว่าถือเป็นต้นแบบโมเดลนำร่อง ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ชาวจ.ชัยภูมิ ร่วมใจกันทำขึ้นได้เป้นผลสำเร็จ ของการขุดลอกคลองเทา หรือน่าจะเรียกว่าคลองประชารัฐชาวเมืองชัยภูมิร่วมใจสู้ภัยแล้งในปีนี้ น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีต่อการขยายผลไปในพื้นที่อื่นได้ตามอีกจำนวนมากด้วย ซึ่งจากนี้ไป ในส่วนของจ.ชัยภูมิ เองยังมีแผนจะขุดลอกคลองเชื่อมในจุดอื่นๆในการบูรณาการ ร่วมกันกับทุกฝ่ายในพื้นที่เกี่ยวข้องขยายผลลง MOU เพิ่มเติมในระยะที่ 2 ของปี 63 นี้อีกในรอยต่อ 2 เขตเทศบาลตำบล 2 อบต. รวมเป็น 8 ตำบลต้นแบบนำร่องเพิ่มขึ้นอีก ที่ต.ลาดใหญ่,บ้านค่าย,โนนสำราญ และต.หนองนาแซง ในการที่จะช่วยหาแนวทางในระยะยาวช่วยกันแก้ปัญหา ภัยแล้ง-น้ำท่วม ที่ยั่งยืนตามมาในอนาคตได้ต่อไปในระยะที่ 2 อีกประมาณ 20 กิโลเมตร ภายในปีนี้ได้อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: