ชัยภูมิ – รายงานพิเศษ พาไปดูโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ สร้างแบตเตอรี่พลังน้ำช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าชาติไทย เพิ่มศักยภาพส่งเสริมการมีส่วนร่วมอนุรักษ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกหนึ่งความภูมิใจจุดกำเนิดป่าต้นน้ำชีเมืองพญาแล ชาวชัยภูมิ
( 27 เม.ย.65 ) ขณะที่ จ.ชัยภูมิ ผู้สื่อข่าวมีรายงาน ถึงสถานการณ์ด้านการหาทางเลือกจากพลังงานทดแทนในปัจจุบันให้เกิดความเพียงพอและมั่นคงให้มากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จากพลังงานไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ดังนั้นการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นต่อเนื่อง และการมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำเป็นต้องมีเสถียรภาพ เพื่อให้ไฟฟ้ามีความมั่นคง ต้องอาศัยระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เป็นระบบที่สามารถกักเก็บพลังงาน ณ เวลาหนึ่ง และสามารถปลดปล่อยพลังงานออกมาได้เมื่อต้องการใช้งาน จึงเป็นส่วนเติมเต็มให้กับโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ถือเป็นแหล่งจุดต้นกำเนิดแม่ชี(ซี) สายน้ำที่ยาวที่สุดของประเทศไทย ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชาวภาคอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)มาช้านานจนปัจจุบัน ที่ขณะนี้เองก็มีรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการได้มีการเตรียมการดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานชนิดหนึ่งที่ถูกคิดค้นบนพื้นฐานความคิดในการจัดการกระแสไฟฟ้าส่วนเกิน เพราะโดยปกติการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนที่ค่อนดึกไปแล้วนั้นจะมีการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลือในระบบ
ที่ขณะนี้หลายฝ่ายต่างเห็นว่ามีความเหมาะสม ต่อระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีอ่างเก็บน้ำสองส่วนคือ อ่างเก็บน้ำส่วนบน และอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง น้ำจะถูกปล่อยจากอ่างเก็บน้ำลงมาเพื่อหมุนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยสามารถตอบสนองผลิตไฟฟ้าได้ทันที เมื่อต้องการผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบในกรณีเร่งด่วน ขณะที่โรงไฟฟ้าทั่วไปต้องใช้เวลาเริ่มเดินเครื่องกว่า 2-4 ชั่วโมง และในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำหรือน้อยลง จะใช้ไฟฟ้าที่เหลือในระบบจ่ายให้กับปั๊มน้ำขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง เพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่วนล่างนี้กลับขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำส่วนบนเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นระบบได้อย่างต่อเนื่องละเกิดความยั่งยืนได้ต่อไป
ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง ได้แก่ 1) เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี มีกำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ 2) เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีกำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ และ 3) โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กฟผ. กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงเตรียมการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA ) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ ณ จังหวัดชัยภูมิ ที่มีขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นแหล่งสะสมพลังงานไฟฟ้า ช่วยบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน)ในอนาคต
ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับถือเป็นระบบเก็บกับพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ สำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ นับเป็นการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า และสามารถตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าช่วงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อีกทางในขณะนี้ จากแหล่งธรรมชาติผืนป่าต้นน้ำความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าต้นน้ำชี จ.ชัยภูมิ และการเปิดให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต ที่ถือว่าจะเป็นอีกแนวทางเลือกหนึ่งและทำให้เกิดการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน และนำไปสู่การช่วยเพิ่มรายได้สู่ชุมชน ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จากนี้ไปประชาชนทุกภาคส่วนจะเกิดขบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานทางเลือกทดแทนเหล่านี้ช่วยกันให้มากขึ้น และนำไปสู่การเกิดความเข้มแข็งต่อชุมชน ประเทศชาติอย่างมั่นคงยั่งยืนร่วมกันให้ได้ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: