ชัยภูมิ –สุดหาดูยากสืบสานเลี้ยงโฮงปะกำหมู่บ้านช้างคืนถิ่นหนึ่งเดียวในโลก เตรียมเปิดงานประจำเจ้าพ่อพญาแล มีให้ชมหนึ่งปีมีครั้งเดียวหนึ่งเดียวในโลกเริ่มคึกคัก!
ตั้งช่วงเช้าเวลา 06.30 – 10.00 น.ที่ผ่านมา วันที่ 9 ม.ค.66 ที่ลานชุมชนในหมู่บ้านค่ายหมื่นแผ้ว ตั้งอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำชี ต.บ้านค่าย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ซึ่งในทุกปีช่วงเดียวกันก่อนจะถึงวันเปิดงานเจ้าพ่อพญาแล ประจำปีที่จะมีการจัดสืบสานประเพณีโบราณถวายช้างคืนถิ่นต่อเจ้าเมืองคนแรก หรือเจ้าพ่อพญาแล(พระยาภักดีชุมพล) เจ้าเมืองคนแรกที่ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ ที่มีให้ชมเพียงแห่งเดียวในโลกมาแต่โบราณจนปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 12-20 มกราคม ของทุกปีและในปี 2566 นี้ ที่รอบอนุสาวรีย์เจ้าพญาแล กลางใจเมืองชัยภูมิ และบริเวณรอบหน้าศาลากลางจังหวัด ชาวชัยภูมิทั่วทั้งจังหวัดและชาว ต.บ้านค่าย ซึ่งมีตำนานการเลี้ยงช้าง ตั้งเป็นค่ายทัพช้าง เพื่อฝึกช้างสู้ไปช่วยกองทัพไทยสู่รบและคล้องช้างเผือกถวายพระมหากษัตริย์ไทย มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 2
ซึ่งชาวตำบลบ้านค่ายจะได้พร้อมใจกันจัดงานช้างคืนถิ่น เพื่อเป็นการยกย่อง และเชิดชูช้าง ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้าน คู่เมืองชัยภูมิและประเทศไทยมาช้านาน และก่อนช่วงใกล้ถึงวันเปิดงานเจ้าพ่อพญาแลอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ม.ค.66 เพื่อสืบสานประเพณีถวายช้างหนึ่งเดียวในโลกในปีนี้
ทาง นายพรเทพ วัชกีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้รับมอบหมายตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เดินทางไปเป็นประธานในพิธีนำจุดธูปเทียน สักการะดวงวิญญาณพ่อหมื่นแผ้ว บวงสรวงดวงวิญญาณพ่อหมื่นแผ้ว แห่พานบายศรีรอบอนุสาวรีย์พ่อหมื่นแผ้ว 3 รอบ คล้องพวงมาลัยอนุสาวรีย์พ่อหมื่นแผ้ว รำบวงสรวง แจกเครื่องบวงสรวงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาร่วมในพิธี กันอย่างคึกคักไม่แพ้กว่าทุกปีที่ผ่านมาเช่นกัน และต่อด้วยพิธีเลี้ยงโฮงปะกำช้าง โดยมีครูบาช้าง บอกกล่าวเครื่องเซ่นไหว้โฮงปะกำ ทำพิธีถอดคางไก่เพื่อทำนาย โดยการเป่าสะแนงแกล(สะไน) ซึ่งทำมาจากเขาควายใช้เป่าในพิธีบวงสรวง ตามประเพณีโบราณที่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา
โดยการจับช้าง เลี้ยงช้าง ของชุมชนคนบ้านค่ายหมื่นแผ้ว ตามหลักฐานทางประวัติเชื่อว่า ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นกองช้างหลวง หรือสถานที่เลี้ยงช้าง ฝึกช้างเพื่อใช้ในราชการศึกสงคราม ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินตอนต้น มีหมื่นแผ้วเป็นหัวหน้า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงแต่งตั้งให้นายแล ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก มียศเป็นพระยาภักดีชุมแล(แล) เมื่อปี พ.ศ.2369 หมื่นแผ้วยังคงทำหน้าที่จับช้างมาเลี้ยง และฝึกช้างส่งให้กับเจ้าเมืองไว้ใช้งาน ต่อมาภายหลังบ้านเมืองสงบสุข ไม่ได้นำช้างมาใช้ในศึกสงคราม กองช้างหลวงจึงถูกยกเลิกไป แต่ภูมิปัญญาในการเลี้ยงช้าง ที่สั่งสมจากรุ่นสู่รุ่น ยังคงหลงเหลือและสืบต่อมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ลูกหลานคนบ้านค่าย จึงมีความผูกพันกับช้างมาโดยตลอด จึงเปลี่ยนมาฝึกช้างเพื่อการแสดงโชว์ความสามารถหรือช้างแสนรู้ ออกไปตามสถานที่ต่างๆในทั่วประเทศ และต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดชัยภูมิ มาจนปัจจุบัน
และเมื่อพอถึงช่วงงานประจำปีเจ้าพ่อพญาแล 12-20 มกราคม ของทุกปี เหล่าชาวคณะช้างจะนำช้างเดินทางกลับบ้านเพื่อไหว้โฮงปะกำ และร่วมพิธีบวงสรวงใหญ่ ถวายช้างต่อเจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ เพื่อความเป็นสิริมงคลในรอบปี ก่อนจะนำช้างออกไปแสดงโชว์ต่อไป ที่จะถือเป็นประเพณีปฏิบัติอันดีงามของคนและช้างชาวชัยภูมิได้สืบต่อกันมายาวนานแต่โบราณเป็นประจำทุกปี
โดยในปีนี้ นายสมหวัง จิตรมา อายุ 75 ปี พ่อหมอปะกำ ประจำโฮงปะกำช้างบ้านค่ายหมื่นแผ้ว ต.บ้านค่าย อ. เมือง จ.ชัยภูมิ เล่าว่า พิธีเลี้ยงโฮงปะกำ เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับช้าง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีสายใยความผูกพันระหว่างคนกับช้างคือ โฮงปะกำ หรือโรงปะกำ เป็นสถานที่เก็บรักษาอุปกรณ์การจับช้างทุกชนิดของบรรพบุรุษ และเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณของปู่ ย่า ตา ยาย ที่คอยปกป้องภัย อำนวยโชคลาภให้กับลูกหลาน ซึ่งในโรงปะกำ จะมีต้องมีหนังปะกำ ที่ทำจากหนังควายตายโฮง 3 ตัว นำมาทำเป็นบ่วงบาศ ใช้คล้องช้างป่า ซึ่งตามตำนานก่อนจะออกคล้องช้าง จะมีพิธีกรรมเสี่ยงทายหัวไก่ว่าจะออกคล้องช้างได้หรือไม่ เมื่อผลการเสี่ยงทายดีก็จะออกคล้องช้าง หากผลเสี่ยงทายไม่ดีก็จะไม่ออกไปคล้องช้างป่า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของช้าง คนเลี้ยงช้าง และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่อนุรักษ์สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนปัจจุบัน
โดยบรรดาช้างคืนถิ่นบ้านค่ายหมื่นแผ้ว จะถูกคัดเลือก 9 เชือกให้เข้าร่วมในพิธีสืบสานประเพณีโบราณหนึ่งเดียวในโลกในการเปิดงานเจ้าพ่อพญาแล ในตอนเช้าวันที่ 12 มกราคม 2566 ที่บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ย่านกลางใจเมืองชัยภูมิ ซึ่งงานจะมี 9 วัน 9 คืน ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและแสดงถึงความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด และสานความรักสามัคคีของชาวชัยภูมิ ได้ออกมาร่วมใจกันทำพิธีสักการะต่ออนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล อย่างคึกคักเป็นประจำทุกปี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: