X

ชัยภูมิเดินหน้าเรียนรู้ระบบพลังงานทดแทนโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ

-แบตเตอรี่พลังน้ำขนาดใหญ่ อีกหนึ่งทางเลือกพลังงานสีเขียวเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย

วันนี้จะพาไปดูระบบการการศึกษาเรียนรู้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 ของประเทศและของโลก ถือเป็นความท้าทายที่หน่วยงานด้านพลังงานอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการแสวงหาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบหรือระบบที่สามารถกักเก็บพลังงานด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่ (Energy Storage System: ESS) จึงเป็นทางออกสำคัญด้านพลังงานที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อลดความไม่แน่นอนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ซึ่งทาง กฟผ. จึงเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเสริมศักยภาพให้กับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่สำรองในกรณีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้อีกด้วย

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเป็นระบบกักเก็บพลังงานประเภทหนึ่งที่มีต้นทุนต่ำ ที่ถูกคิดค้นเพื่อบริหารจัดการกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือในช่วงเวลากลางคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะมีอ่างเก็บน้ำสองอ่าง คืออ่างเก็บน้ำตอนบน (Upper Reservoir) และอ่างเก็บน้ำตอนล่าง (Lower Reservoir) โดยจะนำพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่าง ขึ้นไปกักเก็บไว้ยังอ่างเก็บน้ำตอนบน และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าหรือต้องการผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบในกรณีเร่งด่วน สามารถปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนบน ลงมาหมุนกังหัน (Turbine) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ที่สามารถตอบสนองการผลิตไฟฟ้าได้ทันที ในขณะที่โรงไฟฟ้าทั่วไปต้องใช้เวลาเริ่มเดินเครื่องกว่า 2-4 ชั่วโมง

และในปัจจุบัน กฟผ. มี โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง ได้แก่ 1) เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4 และ 5 จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ 2) เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ และ 3) โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กฟผ. มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2577 ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ตามลำดับต่อไป

แม้ปัจจุบันเทรนด์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกำลังมาแรง เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่พลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่แน่นอน เนื่องจากต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจึงเป็นอีกทางเลือกสำคัญในปัจจุบัน ที่สามารถทำให้เหมือนเป็นแบตเตอรี่ที่ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรองพร้อมรองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน ให้ประเทศไทยและโลกก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สุทธิพงศ์ เสฏฐรังสี

สุทธิพงศ์ เสฏฐรังสี

น้อมรับการทำหน้าที่สื่อเพื่อประชาชนมายาวนานกว่า25ปีเพื่อชาวชัยภูมิพร้อมเป็นเครือข่ายการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีในนามสมาคมนักข่าวจังหวัดชัยภูมิและชมรมสื่อมวลชนชัยภูมิพร้อมรับใช้ชาวชัยภูมิและเป็นเวทีให้กับประชาชนทุกท่านตลอดไปมีอะไรเดือดเนื้อร้อนใจติดต่อมาที่ทีมงาน77ข่าวเด็ดชัยภูมิเราได้หรือที่[email protected]