ชัยภูมิ – รายงานพิเศษ!เสียงสะท้อนถอดบทเรียนวิกฤตต้นน้ำชีป่วยหนัก เส้นเลือดใหญ่ตีบตันใกล้แตกตาย! หลังช่วยหล่อเลี้ยงชาวบ้านทั่วภาคอีสานมาช้านาน!
( 5 ต.ค.66 ) ขณะที่ จ.ชัยภูมิ และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่มีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน ทั้งโซนภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ในปัจจุบันที่ จ.สุโขทัย ระทมถูกน้ำท่วมหนัก และพื้นที่ภาคอีสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแม่น้ำสายหลัก โขง ชี มูล ที่ในปีนี้ก็ยังเกิดสถานการณ์ถูกน้ำหลากจากสายน้ำต่างๆเข้าท่วมสร้างความเสียหายมาต่อเนื่องแทบทุกปีในรอบกว่า 30-50 ปี ที่ผ่านมา
และที่ถึงแม้ในปัจจุบันภาวะภัยธรรมชาติ ที่ปี 2566 นี้ ยังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ฝนตกน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ที่ก็ยังส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมในปีนี้หนักซ้ำซากอีกปีไม่แพ้กันกับปีที่ผ่านมา
ข่าวน่าสนใจ:
รวมทั้งที่ จ.ชัยภูมิ ที่เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดสายแม่น้ำชี จากเทือกเขาภูเขียว ที่ไหลผ่านช่วยหล่อเลี้ยงประกอบอาชีพทางดารเกษตรให้กับคนในพื้นที่ภาคอีสาน มาช้านานจนปัจจุบัน
และในปี 2566 นี้ ก็ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักในขณะนี้อยู่ไม่น้อยในรอยต่อของ 4 อำเภอ ที่มีแม่น้ำชีไหลผ่าน เชื่อต่อมาจาก อ.หนองบัวแดง,หนองบัวระเหว,บ้านเขว้า,จัตุรัส,เนินสง่า ที่จะไหลผ่านเข้ามาในพื้นที่รอยต่อ อ.เมืองชัยภูมิ และพื้นที่ย่านกลางใจเมืองโซนเศรษฐกิจของจังหวัดชัยภูมิ ที่ปี 2566 นี้ปัญหาน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว และผ่านเข้าสู่ภาวะปกติไม่นานกว่า 1 – 2 สัปดาห์ หลังมวลน้ำมหาศาลจะไหลผ่าน จ.ชัยภูมิ ไปเกือบทั่วภาคอีสาน ไปจุดสุดท้ายที่ จ.อุบลราชธานี ที่จะมีลำน้ำ โขง ชี มูลไหลไปรวมกัน ก่อนที่จะหมดฤดูฝนหรือหน้าฝน สิ่งที่ตามมาอย่างรวดเร็วก็คือปัญหาภัยแล้ง ที่ไม่มีแหล่งเก็บน้ำในปัจจุบันที่เพียงพอไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ ไม่แพ้กันกับปี 2565 ที่เป็นปีที่เกิดน้ำท่วมหนักสุดในรอบกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ยังเกิดขึ้นซ้ำซากในตลอดช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมของ จ.ชัยภูมิ พื้นที่ต้นกำเนิดแม่น้ำชีในปัจจุบัน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่รวมทั้งเสียงสะท้อนของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ต่างมองสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจุบันสายแม่น้ำชีมีอาการป่วยหนัก มีอาการหนักถึงขั้นเส้นเลือดตีบตันที่เส้นเลือดในสมอง หากเทียบกันคนเราแล้ว ที่พร้อมจะมีอาการป่วยหนักเส้นเลือดในสมองแตกตายในปัจจุบันได้ทุกเวลา
ซึ่งที่ผ่านมาต้นกำเนิดสายแม่น้ำ และหรือรวมทั้งต้นสายน้ำ โขง ชี มูล ปิงวังยมน่าน ในทั่วประเทศไทย ในขณะนี้มีการใช้เวลาสะสมการทับถมตะกอนของสายน้ำ ผ่านฝาย แหล่งเก็บกัก แหล่งน้ำต่างๆเกิดการตื้นเขินสะสม ทั้งริมตลิ่งทรุดตัวพังเสียหาย จนเกิดปัญหาเส้นเลือดของสายน้ำตีบตันมาจนทุกวันนี้ หากจะเทียบสายต้นแม่น้ำชี ที่ถือว่ายาวที่สุดของประเทศ กว่า 700 กิโลเมตร ในปัจจุบันที่สายน้ำตลอดทาง ที่เคยมีความลึกมีปริมาณเก็บกักนับหลายสิบเมตร แต่ปัจจุบันเกิดการตื้นเขินบางจุดมีความลึกเหลือแทบไม่ถึง 10 เมตร ที่ทำให้ลำแม่น้ำชีไหลผ่านตลอดทั้งสายเก็บน้ำได้น้อยลงตื้นเขินสะสมหนักมากขึ้นมาต่อเนื่องทุกปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน
และมีทั้งปัญหาผักตบชวา วัชพืชไหลมาตามสายน้ำอุดตันขวางเส้นทางระบายน้ำให้ไหลผ่านได้น้อยลง และเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้น้อยลงมาต่อเนื่องทุกปีพอถึงฤดูฝนที่ถึงแม้ในปีไหนจะฝนตกลง หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์เอลนีโญ พื้นที่รับน้ำในลำชีที่ตื้นเขินรับน้ำเก็บกักได้น้อยลงก็จะเกิดการล้นตลิ่ง หากน้ำพัดแรงก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำทะลักซัดฝาย พนังกั้นน้ำริมตลิ่งแตกขาด พังเสียหายอย่างรวดเร็วได้ง่ายมากในปัจจุบัน และก็เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือนพื้นที่การเกษตรของประชาชน ได้อย่างรวดเร็วในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะมีฝนตกน้อย ตกมาก ปัญหาการเกิดน้ำท่วม ในพื้นที่ชาวบ้านที่มีแม่น้ำชีไหลผ่าน ก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างรวดเร็วและน้ำแล้งอย่างรวดเร็วอย่างซ้ำซากอย่างนี้ทุกปีอยู่ล้ำไป
หากจากนี้ไปงานใหญ่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงทั้งรัฐบาล ยังไม่ใส่ใจจริงจังในการมีแผนออกมาช่วยแก้ปัญหาที่จะฟื้นฟูป้องกันภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สายน้ำที่มีในทั่วประเทศ ที่เกิดอาการป่วยวิกฤตหนัก เส้นเลือดตีบตัน ปัญหา น้ำท่วม – น้ำแล้ง ก็ยังวนเวียนหนีไม่พ้นเกิดขึ้นซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ทุกปีอย่างเลี่ยงไม่ได้
ที่ในส่วนของพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมภายในจังหวัดขณะนี้ ด้านนางสาวอรอาภา โลห์วีระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ก็มีแนวทางที่จะแก้ปัญหาได้ในขั้นต้นขณะนี้ ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ ที่เกิดขึ้นริมตลิ่งพนังกั้นแม่น้ำชีแตกเสียหายเป็นจำนวนมากในรอย ต่อ 4 อำเภอ นำให้แม่น้ำชีทะลักไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและถนนหนทาง รวมถึงบ้านเรือนประชาชนยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
การแก้ปัญหาก็มีการระดมผู้นำชุมชน และชาวบ้าน มาร่วมกันป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งทางด้าน นางสุนธรีย์ยา สุทธยาคม ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) รักษาราชการแทนนายอำเภอบ้านเขว้า กล่าวว่า วันนี้ได้รับความร่วมมือจาก หลายภาคส่วน ในการเข้ามาร่วมกันทำแนวป้องกันโดยการสร้างพนังไม้ไผ่ชะลอน้ำที่ไหลออกจากแม่น้ำชี หลังจากที่มีรายงานว่ามีการทรุดตัวของตลิ่งได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะที่ บ้านโนนโก หมู่ 10 ต.บ้านเขว้า อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ มีตลิ่งที่เป็นจุดเสี่ยงว่าน้ำจะไหลออกจากแม่น้ำชี ถึง 5 จุด ในพื้นที่เฉพาะตำบลนี้ตำบลเดียว วันนี้ต้องดำเนินการปิดทางน้ำ รวม 3 จุด โดยต้องใช้ไม้ไผ่จำนวนไม่น้อย แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในแถบนี้ ที่บ้านไหนพอจะมีไม้ไผ่อยู่แล้ว ก็ยินดีที่จะให้มาใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
รวมไปถึงกำลังพลที่มา ก็ไม่ใช่แค่หมู่บ้านที่เดือดร้อนเท่านั้น พบว่ามีการเข้ามาช่วยเหลือกันจากหลายตำบลอีกด้วย และในส่วนภาพรวมของอำเภอบ้านเขว้า เวลานี้ ในเรืองผลกระทบจากน้ำ ตอนนี้ที่เป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขเป็นการเร่งด่วน จะมีอยู่ 2 ตำบล คือตำบลบ้านเขว้า และตำบลลุ่มลำชี ซึ่งที่ตำบลลุ่มลำชี ตอนนี้ต้องเจอกับสภาวะ ..ตัน..!!
จุดที่ 2 ที่ต้องบอกว่าจุดนี้ “ตัน” จริงๆ เมื่อลงพื้นที่มาดูก็จะพบว่า จุดนี้มีวัชพืชประเภทผักตบชวา จอก แหน ที่ลอยออกมาจาก “บึงละหาน” ไหลลงแม่น้ำชี มาสะสมอยู่บริเวณบ้านวังกุ่ม ตำบลลุ่มลำชี อำเภอบ้านเขว้า ,อำเภอจัตุรัส,อำเภอเนินสง่า และเขต ต.บ้านค่าย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นจำนวนมากและเป็นระยะทางยาวในหลายพื้นที่ที่มีความนาและยาวกว่า 5-10 กิโลเมตร
ซึ่งยังมีวัชพืชบางส่วนก็ได้หลุดลอยไปติด อยู่ปลายทางน้ำจุดต่อไป ในเขตอำเภอเมือง ที่ตำบลบ้านค่าย ส่งต่อวิกฤตไปทางด้านล่างพื้นที่คนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำไหลผ่านต่อไปในขณะนี้อีกด้วย
โดยการแก้ปัญหาในจุดนี้ ทางจังหวัดได้ประสาน หน่วยงานกรมชลประทาน หน่วยงาน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานโยธาธิการและผังเมือง เพื่อนำเครื่องจักร หรือรถแบคโฮเข้ามาทำการตักวัชพืชออกจากทางน้ำเป็นการด่วน มิฉะนั้นมวลน้ำทั้งหมด จะถูก วัชพืชปิดกั้นและทำให้น้ำไม่มีทางไปก็จะไหลล้นตลิ่งออกท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนเป็นเวลายาวนาน รวมสร้างความเสียหายให้กับการเกษตรเสียหายมากขึ้น
ภาพรวมความเดือดร้อนตลอดสายแม่น้ำชี ทั้งในอำเภอบ้านเขว้าและในเขตอำเภอเมือง ยังคงความเดือดร้อนขยายวงกว้างไปยังอำเภอที่อยู่โดยรอบ ซึ่งคาดว่าภายใน 2- 3 วันนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านผลกระทบอาจจะมีมากขึ้น หากระดับน้ำใน แม่น้ำชี ยังไม่ลดลง แต่ในส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านแถบนี้อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานระดับประเทศให้รับทราบ ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านแถบนี้ โดยอยากให้มีการเข้ามาดูแลและแก้ไขฟื้นฟูวิกฤตสายแม่น้ำชีที่ปัจจุบันป่วยหนักแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายในการพัฒนาประเทศในการบริหารจัดการน้ำ ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น มิใช่แค่ในแต่ละปีที่ผ่านมา มีเพียงการซ่อมแซมเพียงชั่วคราว เพื่อให้แก้ปัญหาพอผ่านไปได้แค่ในแต่ละปีเท่านั้นด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: