ชัยภูมิ – ในช่วงหน้าหนาวปีนี้ ในช่วงวันหยุดเรียน เด็กๆ ชาวบ้านหนองบัวขาว ต.หนองบัวขาว อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ จะออกมาช่วยกันสืบสานอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของชาวไทยมาแต่โบราณ ได้เรียนรู้ให้รู้จักทั้งการประดิษฐ์ว่าว ทำธนูติดว่าว วิ่งเล่นว่าวให้ขึ้นสูงบนท้องฟ้า ช่วยกันนวดข้าว ซัดมัดฟางข้าวสู่เหลาไม้ เพื่อเป็นการสืบสานตามประเพณีไทยมาดังเดิมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในปีนี้บรรยากาศสร้างรอยยิ้มเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านตามวิถีไทยคักคึกกว่าทุกปี
( 11 ธ.ค.67 ) ขณะที่ จ.ชัยภูมิ บรรยากาศตามวิถีชีวิตชุมชนเด็ก ๆ ในชนบทในปัจจุบันที่หาชมได้ยากในช่วงวันหยุดเรียน ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ เด็ก ๆ ในเมืองตามจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะพากันเล่นเกมส์ต่าง ๆ ตามความชอบของแต่ละคน
แต่ที่ จ.ชัยภูมิ ในช่วงวันหยุดเรียนที่บริเวณทุ่งนาปลูกข้าวศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง ในหมู่บ้านหนองบัวขาว ต.ชีลอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ โดยมีอาจารย์โสโชค สู้โนนตาด ข้าราชการครูเกษียณมาแล้วนานหลายปี ที่ได้ชักชวนญาติพี่น้อง และชาวบ้านใกล้เคียงในหมู่บ้านหนองบัวขาว รวมถึงเด็กทั้งชาย หญิง ออกมาร่วมสืบทอดประเพณีบุญล้อมข้าว หลังช่วยกันเกี้ยวข้าว มัดรวงข้าวเป็นฟ่อนช่วยกันมาทำลอมข้าวไว้ ตั้งแต่ตอนเช้าเด็ก ๆ ทั้งชาย หญิง จะได้เรียนรู้และช่วยกันทำว่าวแบบ ขนาดต่าง ๆ ร่วมกัน ในช่วงที่มีลมหนาวพัดแรง และทำคันธนูติดว่าว ไว้ติดกับตัวว่าว เสร็จเรียบร้อยเด็กๆ จะได้เล่นวิ่งชักว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างสนุก สนาน ซึ่งว่าวบางตัวเมื่อวิ่งว่าวแล้วว่าวตกลงทุ่งนา ได้เก็บว่าวมาแก้ไขใหม่ให้ว่าวได้มีความสมดุลที่จะพากันวิ่งว่าวพาขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าให้ได้ และธนูที่นำติดว่าวขึ้นไปด้วยจะมีเสียงออกมาไพเราะของเสียงคันธนูติดว่าว ที่ยิ่งสร้างความสนุกสนานตามประสาเด็กในชนบท ที่นี่ที่ยังช่วยกันคงวิถีชีวิตชุมชนไทยมาแต่โบราณให้คงอยู่ได้ ซึ่งพบเห็นหรือหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน
รวมทั้งส่วนประเพณีสำคัญก่อนจะมีการนวดข้าวจะมีพิธีการที่สำคัญคือการทำบุญล้อมข้าวและเลี้ยงผีตาแฮก ที่เฝ้าไร่นาข้าวให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยผู้สูงอายุในหมู่บ้านและหมอพราหมณ์มาประกอบพิธีเรียกขวัญข้าว เลี้ยงผีตาแฮก ให้ช่วยปกปักรักษาพื้นที่นาปลูกข้าว ซึ่งประเพณีบุญล้อมข้าวใหญ่ ในอดีตหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแบบดั่งเดิม จะใช้คนเกี่ยว หาบข้าวมากองไว้ สร้างเป็นลอมข้าว ตากข้าวให้แห้งไม่ให้มีความชื้น ก่อนการทำพิธีทำบุญลอมข้าว และไหว้ผีตาแฮก หรือผีไร่ผีนา
ก่อนจะมีการนวดข้าวให้เป็นเมล็ดข้าวเปลือกนำไปใสไว้ในยุ้งฉางเก็บข้าวภายในหมู่บ้าน เป็นวิถีเกษตรกรรมของชาวอีสานมาช้านาน รวมทั้งมีกลุ่มนักเรียนชายหญิงในหมู่บ้านที่ได้มาเรียนรู้การเล่นดนตรีอีสาน ทั้งดีดพิณ เล่นเบส โปรงลาง เป่าแคน เป่าโหวด ตีกลอง รวมถึงหนูน้อยมารำถวายพระแม่โพสพ ด้วยสำนึกในบุญคุณของข้าวที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนทุกคนในปีนี้ด้วย
นอกจากนี้ยังเป็นการ แสดงออกถึงพลังความสามัคคี ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของชุมชน เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณที่กล้าแกร่งของชาวนา มีการทำพิธีพราหมณ์บายศรีสู่ขวัญข้าวทุกปี เพราะชาวนาเชื่อว่า แม่พระโพสพมีอำนาจที่สามารถดลบันดาล ให้ข้าวเจริญงอกงามและนำความอุดมสมบูรณ์มาให้ชาวนาที่บูชาเทวีแห่งข้าว ตั้งแต่ลงมือทำนา ตกกล้าจนข้าวตั้งท้องออกรวงไปจนถึงการเก็บเกี่ยว การทำพิธีบูชาพระแม่โพสพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมทำพิธีบูชาแม่พระโพสพเพื่อขอขมาจะได้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัวให้มีแต่ความสุข
ที่บรรยากาศในปีนี้เห็นจะไม่พลาดได้จัดให้มีการประลองฝีมือในการนวดข้าวแบบประเพณีโบราณ นวดข้าวเสร็จต้องซัดมัดฟางข้าว ไปยังเหลาไม้ไผ่ที่ปักไว้ด้านหน้าบริเวณนวดข้าว ที่ดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่เมื่อดูแต่ละคนที่นวดข้าวเสร็จได้ซัดฟางข้าว ส่วนใหญ่จะไม่ตรงไปยังเหลาไม่ไผ่ที่ปักไว้ แต่ก็บางคนซัดมัดฟางข้าวตรงเป้าพอดี เรียกเสียงฮื้อฮาของผู้ร่วมนวดข้าวได้เป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ตรงเป้าเหลาไม่ไผ่ที่ปักไว้ สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ร่วมในประเพณีบุญล้อมข้าวเป็นอย่างดี หลังนวดข้าวเสร็จยังได้จัดแข่งขันเป่าปี่ตอซังข้าวด้วย มีผู้แข่งขัน 5 คน กติกาเป่าปี่ตอซังข้าวพร้อมกัน ใครเป่าปี่ตอซังข้าวมีเสียงดัง นานที่สุดในลมหายใจเดียว คนนั้นชนะ ไปชมบรรยากาศความสนุกสนาน ทั้งการนวดข้าว ซัดมัดฟางข้าวไปยังเหลาไม่ไผ่ และแข่งขันเป่าปี่ต่อซังข้าว ของชาวบ้านในชุมชนที่นี่ ที่ช่วยกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวไทยที่นี่มาได้ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: