ชัยภูมิ – ชาวบ้านรวมตัวหาแนวทางฮึดสู้ภัยแล้งหนักสุดรอบกว่า 30 ปี สืบสานประเพณีโบราณทำพิธีรำแห่นางเเมวขอฝนไปรอบหมู่บ้านหวังขอเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่การทำพิธีแห่นางแมวขอฝนในยุคปัจจุบัน ก็จำต้องต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากขึ้น หลังมีพรบ.คุ้มครองสัตว์ ที่เดิมเคยใช้แมวมีชีวิตจริงมาทำพิธีแห่รำในขบวน แต่ปัจจุบันทำไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ออกมา ชาวบ้านก็ต้องพากันมาเปลี่ยนเป็นการนำตุ๊กตาแมวมาทำพิธีแห่แทนในยุคแห่นางแมว ยุค 4.0 สู้ภัยแล้งหนักไปให้ได้แทนก่อนในปีนี้!
( 19 ก.ค.62 ) จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดภัยแล้งหนัก ไปทั่วในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิในขณะนี้ ทำให้ ประชาชนหลายพื้นที่ประสบปัญหานาข้าวยืนต้นตาย ลำคลองบ่อน้ำที่มีในชุมชนเกิดแห้งขอดขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะความหวังสุดท้ายที่มีของชาวบ้านหนองโมง ต.ห้วยบง อ.เมืองชัยภูมิ ก็เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งหนัก จนชาวบ้านจำนวนหลายกว่าร้อยหลังคาเรือน ต้องออกมารวมตัวกันเพื่อทำพิธีแห่นางแมว ตามความเชื่อตามประเพณีมาแต่โบราณ ขอฝนในปีนี้ ที่ชาวบ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหนักสุดในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งมีนายอนุภาพ นารีรักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านหนองโมง ได้เปิดเผยเรื่องราวการจัดพิธีในครั้งนี้ว่าในปีนี้ทางชาวบ้านได้มาปรึกษาว่าขณะนี้ไร่นาประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงจะยืนต้นตายหมดแล้ว เพราะไม่มีฝนตกติดต่อกันเป็นระยะะเวลานานนับหลายเดือนแล้ว ทั้งที่เป็นช่วงหน้าฝน แหล่งน้ำทางการเกษตรขาดแคลนน้ำอย่างหนัก จึงคิดร่วมกันว่าจะจัดพิธีแห่นางแมวเพื่อขอฝน อย่างน้อยก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน และลดปัญหาความเครียดให้กับคนในชุมชนได้บ้าง ซึ่งในขบวนจะได้ร่วมสนุกสนานฟ้อนรำตามประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาจากปู่ย่าตายาย โดยจะมีขบวนร้องรำทำเพลง แห่นางแมวไปรอบๆ หมู่บ้าน รวมถึงจะมีชาวบ้านข้างทางร่วมบริจาคเพื่อนำเงินไปถวายวัดในหมู่บ้านอีกด้วย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านที่นำเอาศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีและชีวิตความเป็นอยู่มาทำเป็นกิจกรรมให้เกิดความสามัคคีของคนในหมู่บ้านในยามที่เกิดวิกฤตภัยแล้งขาดน้ำทำนา จนต้องจัดให้มีการแห่นางแมวดังกล่าวขึ้นครั้งนี้
ขณะที่นายสงคราม วงศ์ศรีไข อายุ 75 ปี ปราชญ์ชาวบ้านเล่าถึงพิธีกรรมในการจัดพิธีแห่นางแมวขอฝนตามประเพณีคนอีสานมายาวนานแต่โบราณว่า พิธีกรรมดังกล่าวตนเองได้รับการสืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย เพราะเชื่อว่าฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลมีเหตุผลหลายประการ เช่น เกิดจากดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประชาชนชาวบ้านหย่อนยานในศีลธรรม ทำผิดจารีตประเพณี เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงต้องประกอบพิธีขอฝน และการที่ต้องใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝนนั้น มาจากถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวบ้านจึงถือเอาเคล็ดนี้เมื่อแมวร้องในเวลาที่ฝนตกจะเป็นเหตุให้ฝนตกลงมาจริงๆ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสาดน้ำและทำให้แมวร้องมากที่สุด โดยเชื่อว่าเสียงแมวร้องจะได้ยินถึงเทวดาที่อยู่เบื้องบนฟ้าจะได้ประทานฝนให้ตกลงมาตามคำอ้อนวอน
และอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในพิธีกรรมคือขันธ์ 5 ประกอบด้วย ดอกไม้ธูปเทียนจำนวน 5 คู่ พุตะไลจุดขึ้นไปบนฟ้าเพื่อส่งสัญญาณไปถึงพญาแถนซึ่งชาวอีสานนับถือเป็นอย่างมากที่จะช่วยส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ สุ่มไก่หรือกรงและที่เป็นนางเอกของงานคือแมว
“แต่เนื่องในปัจจุบันไม่สามารถที่จะนำแมวตัวจริง หรือมีชีวิตจริงๆ มาประกอบพิธีได้ เนื่องจากมีพรบ.คุ้มครองสัตว์ออกมา และจะเป็นการผิดกฎหมายในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ได้ ชาวบ้านในยุค 4.0 ในปัจจุบันจึงต้องปรับเปลี่ยนให้ตามยุคสมัย โดยการนำตุ๊กตาแมวมาประกอบพิธีแทน และพิธีดังกล่าวจะต้องประกอบไปในช่วงหรือปีที่มีความแห้งแล้งจัดเท่านั้น ไม่จำเป็นชาวบ้านจะไม่ทำเด็ดขาด เพราะคนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณไม่จำเป็นก็จะไม่นำแมวมีชีวิตเป็นๆ ออกมาแห่ได้ง่ายๆ เช่นกัน ซึ่งจะทำในช่วงที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดปัญหาต้นข้าวที่เพาะปลูกประสบกับปัญหาภัยแล้งหนักเท่านั้น และอีกส่วนหนึ่งก็ถือว่าเป็นหวังสุดท้าย ที่ชาวบ้านยังมีความหวังว่าหลังทำพิธีแห่นางแมวผ่านไปครั้งนี้แล้ว อีกไม่นานฝนฟ้าก็น่าจะตกลงมา และก็ถือว่าเป็นกุศโลบายที่จะส่งสัญญาณไปถึงหน่วยงานราชการให้ช่วยเข้ามาดูแล และแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน หวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วตามมาในเร็ววัน”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: