รมว.พม. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ จ.นครราชสีมา พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานป้องกันและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
วันนี้ (7 พ.ค. 61) เวลา 09.00 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลมะเกลือเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และรับฟังรายงานการดำเนินงานด้านสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือเก่า (ชุมชนต้นแบบสวัสดิการสังคม) พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานในพื้นที่และสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. โดยมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านนารีสวัสดิ์) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะเป็นองค์กรหลักในการดำเนินภารกิจด้านสังคมตามนโยบายรัฐบาล “ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ” มีภารกิจที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงชีวิต อาทิ เด็กและเยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่งและขอทาน รวมทั้งผู้ที่ประสบปัญหาทางสังคม ขับเคลื่อนงานด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งในวันนี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ มีจำนวนประชากร 2,631,435 คน และมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ มากถึงร้อยละ 16 ของจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านผู้สูงอายุรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ชุมชนต้นแบบสวัสดิการสังคม อบต.มะเกลือเก่า ประกอบด้วย 20 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 103,004 ไร่ จำนวนประชากร 12,931 คน (ชาย 6,419 คน หญิง 6,421 คน) ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและการรับจ้าง ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ตำบลต้นแบบด้านการจัดสวัสดิการสังคม” ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในปี พ.ศ. 2555 โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง มีการดำเนินการที่เกี่ยวกับสวัสดิการครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ 1) การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลมะเกลือเก่า (ออมวันละบาท) ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,620 คน จำนวนเงินกองทุน 600,156.63 บาท 2) การตั้งคณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลมะเกลือเก่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีให้มีความพร้อมในครอบครัวและสังคม ส่งเสริมให้สตรีในตำบลสามารถพัฒนาศักยภาพ เพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ 3) จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุตำบลมะเกลือเก่าขึ้น ตั้งแต่ปี 2549 และสนับสนุนการจัดกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุมาจนถึงปัจจุบัน และ
4) จัดสรรงบประมาณและเวลาในการเสริมสร้างความพร้อมในการเตรียมต้อนรับสมาชิกใหม่
ทั้งนี้ อบต.มะเกลือเก่า เป็นหนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ตำบลมะเกลือเก่า มีการจัดกิจกรรมให้บริการผู้สูงอายุในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุม อีกทั้งยังเป็นศูนย์ประสานงาน ศูนย์ฝึกอบรมอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์บริการด้านสุขภาพ โรงเรียนผู้สูงอายุ โดยเน้นวิชาการในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ อาทิ อาหาร สิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต ส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับวัยผู้สูงอายุ วัฒนธรรม อาเซียนศึกษา ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รับฟังสรุปผลการดำเนินงานด้านการป้องกันและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้ง 8 แห่งทั้วประเทศ พร้อมทั้งมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานภารกิจ และสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ณ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
(บ้านนารีสวัสดิ์) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์กระทรวง พม. โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำด้านสังคมของไทยและอาเซียน มุ่งสู่คนอยู่ดีมีสุข ในสังคมคุณภาพ โดยเฉพาะปัญหาการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายต้องได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุขเช่นกัน คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหายฯ เป็นสำคัญและไม่เลือกปฏิบัติ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับและชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศในเรื่องกระบวนการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่ได้มาตรฐานสากลและมีบางประเด็นที่มีความก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น เช่น การอนุญาตให้ผู้เสียหายอยู่ในประเทศไทยและทำงานได้ระหว่างการให้ความร่วมมือในกระบวนการดำเนินคดี การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายเป็นต้น
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีการรับฟังผลการดำเนินงานของสถานคุ้มครองฯ ทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ และมอบนโยบายการขับเคลื่อนงาน โดยคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเป็นสำคัญ มีการแก้ไขระเบียบของกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการมีงานทำของผู้เสียหายฯ ค่าตอบแทนในการทำงานของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเงินทุนสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายกลับเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ซ้ำ ทั้งนี้ การจ่ายเงินต้องถึงผู้เสียหายโดยตรง เป็นไปตามระเบียบ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งได้มอบนโยบายให้มีการสร้างการรับรู้ในเรื่องการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการ
ค้ามนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับการคุ้มครองในสิทธิที่พึงจะได้รับในทุกมิติ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การสร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมให้บุคลากรในทุกระดับได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม การทำงานเป็นทีมเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสังคมอย่างเต็มกำลัง ซึ่งทางกระทรวง พม. พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ภาพ-ข่าว สันติ วงษาเกษ(ต้อง )จ.นครราชสีมา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: