ตรัง – คนเก็บขยะรีไซเคิลเดือดร้อนหนักจากปัญหาราคาขยะตกต่ำรายวัน โดยไม่ทราบสาเหตุ ทางด้านผู้บริหารเทศบาลนครตรังซึ่งต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะระบุว่า หากมีการนำขยะรีไซเคิลเข้ามาจากต่างประเทศตีตลาดราคาขยะรีไซเคิลภายในประเทศ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาแก่ชาวบ้านผู้หาเช้ากินค่ำที่ยึดอาชีพสุจริตเก็บขยะขายเลี้ยงปากท้อง หากราคาตกต่ำจะไม่ดึงดูดใจให้ออกมาช่วยเก็บขยะขาย และจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้ท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่จัดการขยะที่ปัจจุบันประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องขยะล้นเมืองอยู่แล้ว ภาครัฐไม่ควรปล่อยให้เกิดปัญหาเรื่องนี้
จากการที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบปัญหาราคาขยะรีไซเคิลตกต่ำ จากชาวบ้านที่ยึดอาชีพเก็บขยะส่งขายเลี้ยงชีพและครอบครัว ภายในบ่อกำจัดขยะเทศบาลนครตรัง ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง พบว่าชาวบ้านที่ยึดอาชีพเก็บขยะส่งขายเป็นขยะรีไซเคิลต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาราคาขยะรีไซเคิลตกต่ำ โดยทุกคนต่างบอกว่าราคาขยะทุกชนิดราคาตกรายวัน ทั้งกระดาษลัง กระดาษสี กระดาษขาวดำ ขวด พลาสติกทุกชนิด ราคาอย่างรุนแรง จนแทบจะไม่มีราคาทุกชนิด โดยที่พวกตนไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากปัญหาอะไร แต่ก็ต้องออกมาทำงานเก็บขยาย เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องเลี้ยงครอบครัว เช่น ขวดพลาสติกใส จากเดิมราคากก.ละกว่า 10 บาท เหลือกก.ละ 6 บาท . กระดาษขาวดำ จากเดิมก.ก.ละ 7 บาท ลดลงมาทุกวันๆละ 1 บาท จนขณะนี้เหลือก.ก.ละ 1 บาทเท่านั้น , ขยะที่เป็นกระดาษสีไม่มีราคาอีกเลย จากเดิมก.ก.ละ 3 บาท ขณะนี้เหลือก.ก.ละ 10 – 50 สตางค์เท่านั้น จนขณะนี้โรงงานสั่งหยุดรับซื้อขยะกระดาษชั่วคราว , กระป๋องทั่วไป จากเดิมก.ก.ละ 4 – 5 บาท เหลือ 2 บาท ทำให้รายได้ของคนเก็บขยะแต่ละคนหายไปครึ่งหนึ่งต่อวัน และเหตุการณ์ราคาขยะรีไซเคิลตกต่ำเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทางด้านนายอภิชิต วิโนทัย นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าขยะภายในประเทศขณะนี้มีมากเพียงพอที่เราสามารถกำจัดได้ โดยเฉพาะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการให้มีการนำขยะกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งสามารถทำให้ปริมาณขยะลดลง หากมีการนำเข้าขยะจากต่างประเทศจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อรายได้ ทั้งกับผู้เก็บขยะซึ่งเป็นชาวบ้านทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำ เพื่อเลี้ยงปากท้องและครอบครัว รวมทั้งผู้รับซื้อขยะ จะทำให้ขาดแรงจูงใจในการเก็บและซื้อขยะ ทำให้การคัดแยกขยะลดน้อยลง ก็จะทำให้ขยะบางชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้น รัฐบาลควรจะพิจารณาปัญหาโดยภาพรวมของเรื่องนี้ เพราะจะทำให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ขณะที่ท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการขยะก็จะมีต้องแบกรับภาระมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ของทุกจังหวัดอยู่แล้ว ดังนั้น ภาครัฐควรจะต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
ด้าน นายยงยุทธ เบญจวรางกูล ผู้อำนวยส่วนการโยธาและผังเมือง สำนักงานเทศบาลนครตรัง ซึ่งรับผิดชอบงานกำจัดขยะ ศูนย์จัดการขยะมูลฝอย เทศบาลนครตรัง โดยรับขยะทั้งจากในเขตเทศบาลนครตรัง และจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงอีก 18 แห่ง ที่ไม่มีบ่อกำจัดขยะเป็นของตัวเอง รวมทั้งจากเอกชน กล่าวว่า ทุกวันนี้เทศบาลนครตรัง ต้องรับผิดชอบกำจัดขยะที่เข้ามาปริมาณ 120 – 150 ตันต่อวัน และแนวโน้มไม่มีทีท่าว่าจะลดลง มีแต่จะเพิ่มปริมาณขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก แม้จะใช้วิธีกำจัดแบบวันต่อวัน ขณะที่ขยะที่อยู่ในบ่ออยู่แล้วมีประมาณ 8 แสนตัน โดยขยะที่เข้ามาแต่ละวันแบ่งเป็นประเภท ขยะพลาสติกประมาณ 75 – 80 % ส่วนของขยะที่ย่อยสลายได้ก็มากพอสมควร แต่บ่อกำจัดขยะของเทศบาลนครตรัง ถ้ามีการคัดแยกขยะจากครัวเรือน และชาวบ้านเข้ามาเก็บคัดแยกบริเวณบ่อ จะทำให้บ่อกำจัดขยะรองรับขยะต่อไปได้อีกประมาณ 3 ปี แต่หากไม่มีเก็บหรือคัดแยกขยะออกไปใช้ใหม่จะทำให้ขยะล้นบ่อ และอยู่ได้แค่ประมาณ 2 ปี เท่านั้น
ภาระหนักต้องตกกับเทศบาลนครตรังที่จะต้องหามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เร็วที่สุด เช่น การแยกขยะในบ่อที่มีอยู่ และขยะประจำวันในเร็วๆนี้ ส่วนของชาวบ้านที่เข้ามาเก็บคัดแยกขยะบางส่วนออกไปขายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นประเภทพลาสติก ขวด และขยะโลหะ ได้ประมาณวันละไม่ถึง 20 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก
ดังนั้น หากมีการนำเข้าขยะรีไซเคิล ราคาขยะตกต่ำลงไปอีก จะทำให้ขยะบางประเภทไม่มีคนช่วยคัดแยกนำไปส่งขาย จะทำให้เกิดขยะตกค้างจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้กำจัดไม่หมดและอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐไม่ควรปล่อยให้มีการนำเข้าขยะรีไซเคิลทั้งหมด เพราะขยะภายในประเทศก็มีเป็นจำนวนมากยังกำจัดไม่หมด อาจจะล้นเมืองได้ในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: