เกษตรกร อ.ห้วยยอด จ.ตรัง แบ่งพื้นที่นาข้าวปลูกดอกบัวเป็นรายได้เสริม
วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ต.วังคีรี ,ต.บางกุ้ง อ.ห้วยยอด ซึ่งประกอบอาชีพหลักคือ ทำสวนยางพารา และมีพื้นที่นาดั้งเดิมอยู่ในความครอบครองด้วย ยังคงอนุรักษ์พื้นที่นาไว้สำหรับทำนาปลูกข้าว เพื่อเอาไว้รับประทานในครัวเรือน ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆที่ขณะนี้เปลี่ยนพื้นที่นามาเป็นการปลูกยาง และปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้ต้องซื้อข้าวกิน นอกจากนั้นชาวนากลุ่มนี้ ได้กันพื้นที่บางแปลงที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ยากต่อการทำนา หันมาทำนาบัวแทน เพื่อปลูกไว้ขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย
นางกมลศรี พลบุญ อายุ 45 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนา ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต.วังคีรี และพื้นที่ติดกัน คือ ต.บางกุ้ง ที่ยังมีที่นารวมประมาณ 40 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 300 – 400 ไร่ ได้รวมกลุ่มกันทำนาอนุรักษ์แบบดั้งเดิม และร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ เพื่อไม่ให้สูญหายไป รวมทั้งข้าวไร่ ไร่ โดยในกลุ่มก็ได้พยายามฟื้นฟูพื้นที่และใช้วิธีการทำนาแบบดั้งเดิม ด้วยการไม่ใช้สารเคมี และสารฆ่าแมลง และลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยกรมการข้าว ได้เข้ามาตรวจรับรองแปลงปลูกทุกปีว่าปลอดภัย ไร้สารเคมีตกค้าง ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่นาบางแปลงอยู่ในน้ำลึก มีน้ำท่วมขังตลอดปี ซึ่งทำนาแล้วไม่ได้ผล ในระยะเวลาประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา เจ้าของแปลงนา ซึ่งอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ต.บางกุ้ง ได้ดัดแปลงปรับพื้นที่ทำนามาเป็นการทำนาบัวแทน เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้เลี้ยงปลาในนาบัวด้วย
ทางด้านนายประภาส ไกรเทพ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ 6 ต.บางกุ้ง อ.ห้วยยอด และครอบครัว กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ทำนาเดิมอยู่ทั้งหมด 16 ไร่ โดยแบ่งเป็นทำนาข้าวดั้งเดิมจำนวน 8 ไร่ ส่วนอีก 8 ไร่ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ปลูกข้าวแล้วไม่ได้ผล จึงได้เปลี่ยนแปลงความคิดเอารถแบ็กโฮขุดให้ลึกกว่าเดิม เพื่อทำนาบัวแทนมาประมาณ 3 ปีแล้ว โดยแรกเริ่มซื้อพันธุ์บัวกระถางมาปลูกเพียงไม่กี่ต้น แต่หลังจากนั้นเพราะดินดีทำให้แตกกอขยายเต็มพื้นที่ ทำให้สามารถตัดดอกขายได้ตลอดทั้งปี บางครั้งตัดได้เป็นพันดอก ขายส่งพ่อค้าในตัวเมืองตรัง และที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมชาติ แต่ขณะนี้ขาดคนงาน ประกอบกับมีหนอนลงกินทำให้มีดอกเน่าด้วย เนื่องจากไม่ได้สารเคมีฆ่าแมลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีดอกมากพอให้สามารถตัดส่งขายได้ทุกวันพระ ครั้งละประมาณ 300 – 400 ดอก โดยขายในราคาดอกละ 4 – 5 บาท ถ้าขายส่งดอกละ 4 บาท ทำให้มีรายได้เสริมทดแทนนาข้าว ทั้งนี้ สามารถตัดดอกขายได้ตลอดทั้งปี และจะขายดีในช่วงวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีไม่พอขาย สำหรับประชาชน หรือพ่อค้า แม่ค้า ต้องการดอกบัวไปจำหน่ายสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 090 – 1745751
ข่าวน่าสนใจ:
- ทนายเกรียง พา สาวนักแข่งรถจักรยานยนต์ทีมชาติไทย แจ้งความดำเนินคดีกับนายกสมาคม ข้อหาหมิ่นประมาท และ พรบ.คอม
- นายก อบจ.ระยอง ประกาศลาออกก่อนครบวาระ 1 วัน พรัอมลงชิงชัยตำแหน่งนายก อบจ.ระยอง อีกหนึ่งสมัย
- แห่ชมโคมไฟพร้อมรับลมหนาวทางเทศบาลตำบลตลุกดู่เนรมิตรให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: