X

ตรัง  จนท.ร่วมชาวบ้านตรวจสอบหญ้าทะเลตายนับพันไร่

ตรัง –  สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า ร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านเกาะลิบง ลงตรวจสอบปัญหาการตายของหญ้าทะเลในพื้นที่เกาะลิบง แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ของ จ.ตรัง หลังพบการตายนับพันไร่

วันที่ 20 ธันวาคม 2562   นายธรา วรรณพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นายร่อหีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมทั้งผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านตำบลเกาะลิบง  ได้ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบปัญหาการตายของหญ้าทะเลในพื้นที่เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ของจังหวัดตรัง เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน รวมทั้งหญ้าทะเลบางชนิดยังเป็นอาหารสำคัญของพะยูนด้วย  หลังจากชาวประมงพื้นบ้านพบเห็นการตายของหญ้าทะเลเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างจำนวนนับพันไร่จนหวั่นจะสูญพันธุ์  ทั้งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการทับถมของตะกอนดินที่ถูกคลื่นลมซัดเข้ามา  นับจากจุดที่กรมเจ้าท่านำตะกอนดินที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำไปทิ้งในทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากจุดแหล่งหญ้าทะเลประมาณ  2 – 3 กม.  แต่เนื่องจากกระแสคลื่นลมมีกำลังแรง การขึ้นลงของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงรุนแรงในห้วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ทิศทางลมไม่เป็นไปตามฤดูกาลปกติ และจึงซัดตะกอนดินกลับเข้าหาชายฝั่ง แล้วทับถมหญ้าทะเลจนตาย

  นายสำคัญ กวบดี อายุ 45 ปี ชาวประมงพื้นบ้านเกาะลิบง กล่าวว่า  ความเสียหายของหญ้าทะเลโดยภาพรวมประมาณ 50% ของแนวหญ้าทะเลทั้งหมด  แต่ที่ตายสนิทแล้วประมาณ 20% ส่วนที่เหลือก็ต้องลุ้นว่าจะตายเพิ่มขึ้นหรือไม่  ส่วนตัวมองว่าโอกาสรอดน้อยมาก และจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูไม่ต่ำกว่า 10 ปี  ซึ่งส่งผลให้กุ้งหอยปูปลาในบริเวณนี้ลดน้อยลงมาก เพราะไม่มีหญ้าทะเลขึ้นหนาแน่นตามปกติ  ซึ่งเมื่อหยิบส่วนที่เหลือขึ้นมาดูพบว่าจะเหลือแต่โคนต้น หรือยาวไม่ถึง 1 คืบ จากเดิมที่หญ้าทะเลจะยาวประมาณ 1.20 เมตร  จนเรือแล่นผ่านไม่ได้ เนื่องจากหญ้าทะเลจะพันใบจักร โดยเริ่มเสียหายมาตั้งแต่ปากร่องหาดตูบ ไปจนถึงหินก้อนเดียว บริเวณปากคลองทุ่งจีน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ส่วนที่เสียหายอย่างมากทั้ง 100% จนเห็นภาพชัดเจนคือ บริเวณอ่าวปากหลาม จนถึงอ่าวทุ่งจีน โดยไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร  ประกอบกับในช่วง 1-2 ปีนี้ กระแสน้ำ และการขึ้นลงของน้ำก็เปลี่ยนไป เช่น ไหลแรงมาก  ขณะที่สภาพอากาศ หรือทิศทางลม ก็เปลี่ยนแปลงไป จนชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถแยกแยะได้แล้วว่า เดือนไหนจะเป็นลมอะไรพัดเข้ามา

  ด้าน นายสะปีอี เทศนำ อายุ 50 ปี อีกหนึ่งชาวประมงพื้นบ้านเกาะลิบง ก็กล่าวว่า  ส่วนตัวเชื่อว่าสาเหตุที่หญ้าทะเลตายเป็นบริเวณกว้าง จะต้องเกิดจากตะกอนดินที่กรมเจ้าท่าทำการขุดลอกร่องน้ำ แล้วนำไปทิ้งไว้ในทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 2  กม.  ทำให้ตะกอนดินดังกล่าวถูกคลื่นลมซัดเข้ามาปกคลุมหญ้าทะเลจนตาย นับตั้งแต่ปลายปี 2561 เรื่อยมา จนเกิดผลกระทบหลายพันไร่  จึงอยากจะบอกหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สามารถจะแก้ไขได้  ต้องรอให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวมันเอง ต้องใช้เวลาหลายปี และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  สำหรับปัญหาอุณภูมิความร้อนของน้ำ ก็อาจทำให้ใบหญ้าส่วนยอดตายไปได้บ้าง แต่พอโดนคลื่นซัดก็จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม  ซึ่งผลกระทบจากกรณีนี้ก็คือ ชาวประมงพื้นบ้านที่หาเช้ากินค่ำเพราะกุ้งหอยปูปลาหายไปเยอะ จนแทบหาไม่ได้เลย  จึงฝากถึงการขุดลอกร่องน้ำในปี 2563 ว่า จะต้องนำตะกอนดินไปทิ้งให้ไกลที่สุด หรือห่างจากเกาะลิบงไม่ต่ำกว่า 20 กม เพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นลมซัดเข้ากลับมาได้

  นายธรา วรรณพฤกษ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า กล่าวว่า  จากการลงมาดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามที่ชาวประมงพื้นบ้านเกาะลิบงได้มาพบ  เท่าที่รับฟังและร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในปี 2561-2562 กระแสน้ำกระแสลมมีความผิดปกติ  ส่วนตะกอนดินที่กรมเจ้าท่าได้ทำการขุดลอก ก็นำไปทิ้งในจุดที่เคยทิ้งเป็นประจำอยู่แล้ว และทิ้งมาหลายสิบปีมาแล้ว  แต่ปัญหาเพิ่งมาเกิดในปี 2561-2562 เนื่องจากสภาพต่างๆ ในธรรมชาติมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นผิดปกติ  แต่กรมเจ้าท่าก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในการปฏิบัติงาน  เนื่องจากร่องน้ำกันตัง เป็นร่องน้ำเศรษฐกิจที่สำคัญทางฝั่งอันดามันตอนใต้ และสร้างรายได้ให้ประชาชนมายาวนาน  ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาในการศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดลอกร่องน้ำกันตัง เพื่อนำผลกระทบดังกล่าวไปศึกษา และรอการฟื้นฟูของธรรมชาติต่อไป

  อย่างไรก็ตาม  นอกจากปัญหาตะกอนดินจะมีผลกระทบกับหญ้าทะเลแล้ว ยังมีชาวบ้านที่เลี้ยงปลากระชังในคลองโต๊ะขุน ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณปากอ่าวประมาณ 100 เมตร เป็นผลทำให้ปลาเก๋าของชาวบ้าน จำนวน 7 ราย ซึ่งเลี้ยงไว้รายละประมาณ 1,000 ตัว ตายลงจนหมดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นมา  โดย นายประกอบ เทศนำ อายุ 55 ปี ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากระชัง เชื่อว่า เป็นเพราะสภาพน้ำจากตะกอนดินดังกล่าว  เนื่องจากเคยเลี้ยงปลากระชังมานานแล้ว แต่ไม่เคยพบปลาตายมากมายขนาดนี้มาก่อน ทั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านทุกรายขาดทุนเป็นอย่างมาก เพราะปลาเก๋าราคาดี ปกติจะจับขายได้ตัวละ 300 บาท โดยรวมความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท จนชาวบ้านขาดทุนหมดตัว  และยังไม่สามารถเรียกร้องความช่วยเหลือได้จากใคร

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน