ตรัง – พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปัญโญ เจ้าของโพสต์ทำบุญยุคดิจิทัล สั่งแอปถวายสังฆทาน – รับพรผ่านวีดีโอคอลระบะการทำบุญสมัยใหม่ บุญที่ได้ไม่แตกต่างกัน
วันที่ 7 มกราคม 2563 สังคมกำลังฮือฮากับโพสต์ของพระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปัญโญ พระลูกวัด วัดนิคมประทีป (วัดโคกหล่อ) อ.เมือง จ.ตรัง ที่ออกมาโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการทำบุญของสมัยนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยว่า ขณะนี้มาการทำบุญยุคดิจิทัล สั่งแอปถวายสังฆทาน – รับพรผ่านวีดีโอคอล โดยมีใจความว่า “นี่เรามาถึงจุดที่สามารถถวายสังฆทานโดยไม่ต้องเห็นหน้ากันแล้ว โยมจะทำบุญ เปิดแอปสั่ง FoodPanda ตัดเงินผ่านบัญชีแล้วมาส่งในวัด แล้วพระรับประเคนจากคนมาส่ง พร้อมโทร.มารับพรผ่าน Video Call #Disruption #โลกหมุนไวใจหมุนธรรม” จนกลายเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมากในขณะนี้
พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปัญโญ พระลูกวัด วัดนิคมประทีป (วัดโคกหล่อ) อ.เมือง จ.ตรัง เจ้าของโพสต์ กล่าวว่า ตนเองตกใจหลังจากโพสต์ไปมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และแชร์ข้อความไปอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของโยมที่ตั้งใจอยากจะทำบุญ แต่ติดขัดว่าจะต้องทำงานอยู่ในเมือง จึงภาระรัดตัวไม่มีเวลาซื้อของมาถวายพระที่วัดที่มาแล้วอาจต้องใช้เวลาอยู่นานๆ ได้ จึงอาศัยการสั่งผ่านทางแอปจัดส่งแบบเดลิเวอร์รี่มาส่งให้ถึงวัด เมื่อมาถึงแล้วก็ให้คนที่มาส่งมาประเคนถวายพระแล้วเสร็จก็รับพร วีดีโอคอลกันก็เพื่อความสะดวกทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถวายเสร็จอนุโมทนารับบุญเสร็จก็สามารถไปทำงานต่อได้ ส่วนตัวก็เลยเห็นว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการทำบุญ ซึ่งทางพระเองก็ไม่คุ้นเคย ญาติโยมก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญในวาระสำคัญต่างๆ แล้วก็เพื่อความสบายใจด้วย จึงโพสต์เล่าสู่กันฟัง ซึ่งความจริงมีมาสักระยะหนึ่งแล้ว พระอาจารย์ตามวัดต่างๆในเมืองก็บอกเล่าให้ฟังว่าได้รับเหมือนกันเกือบจะทุกวัด ส่วนตัวมองว่ามันเป็นเทรนด์ตามยุคสมัย ซึ่งหลายคนมาถกเถียงกันในสื่อโซเชียลว่าจะได้รับบุญไหม หรือถกเถียงกันว่า เดลิเวอร์รี่คนที่นำมาส่งจะแบ่งบุญกับเจ้าของเงินที่โทรสั่งซื้อไปถวายคนละครึ่งหรือไม่ จึงอยากจะบอกว่าบุญตามความหมายสามารถแปลได้ 2 ประการคือ การสละออก กับแปลงว่า “เต็ม “ สละออกคือ เป้าหมายของการทำบุญคือการที่เราได้กลัดเกลาตัวเอง ความโลภ โกรธ หลง ลดลงหรือไม่ การที่เราใช้แอฟพลิเคชั่นสั่งถวายผ่านทางเดลิเวอร์รี่ เป็นจิตที่เจตนาอยากจะทำทาน คือ 1. “ การสละปัจจัยเพื่อที่จะบำรุงพระศาสนา ดังนั้นรูปแบบการถวายเปลี่ยนไป แต่เจตนาไม่เปลี่ยน” 2 .หลังจากที่เขาได้ถวายแล้ว จิตใจของเขาก็อิ่ม ก็เต็มด้วยบุญกุศลเหมือนเดิม ที่สำคัญบุคคลที่ทำหน้าที่ถวายเขาก็ได้ส่วนแห่งบุญด้วย อุปมาเหมือนการที่เราได้จุดเทียน โดยตัวเราเป็นเจ้าของเทียนเมื่อจุดสว่างแล้วก็ไปจุดให้คนอื่นๆต่อ แสงไฟของตัวเองก็ไม่ได้ลดลงหรือหายไป แต่กลับทำให้เทียนเล่มอื่นได้สว่างไปด้วย คนที่มาส่งเองก็จะได้มีส่วนแห่งบุญนั้นด้วย ส่วนที่มีการวีดีโอคอลรับพรนั้น จะเป็นเฉพาะญาติโยมที่รู้จักกัน ก็โทรมารับพรผ่านทางวีดีโอคอล แต่ถ้าไม่รู้จักกันก็ไม่ต้องทำ แต่ผ่านทางคนส่งของเท่านั้น
พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปัญโญ พระลูกวัด วัดนิคมประทีป (วัดโคกหล่อ) อ.เมือง จ.ตรัง เจ้าของโพสต์ กล่าวอีกว่า มีหลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อมีลักษณะนี้เกิดขึ้นในอนาคตคนจะเข้าวัดทำบุญหรือไม่ ส่วนตัวอยากอธิบายว่า เทคนิคหรือรูปแบบเปลี่ยนไป แต่สุดท้ายแล้ววัดที่แท้จริงไม่ใช่เป็นแค่อาคารสถานที่หรือบริเวณเท่านั้น แต่วัดที่แท้จริงคือ วัดที่อยู่ในใจคน สมมุติว่าถ้าจิตใจของคนมีความสงบร่มเย็น สามารถกลัดเกลากิเลสได้ ก็คือ วัดที่แท้จริงที่อยู่ในใจคน จะยั่งยืน ก็เห็นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่แก่นของธรรมมะยังเหมือนเดิม คือ สละกิเลส กลัดเกลาตนเอง ผ่านรูปแบบการทำบุญไปในรูปแบบต่างๆ ไปตามตามยุคสมัย และเชื่อว่าคนที่ทำบุญหากมีโอกาสมีเวลาก็จะยังเข้าวัดทำบุญด้วยตัวเองเช่นเดิม จะไม่ลดลงแน่นอน อาจจะบ่อยขึ้นด้วย เพราะทำให้รู้สึกว่าใกล้ชิดกับพระสงฆ์มากขึ้น และการที่เขาทำบุญแล้วทำให้สบายใจ จะทำให้เกิดความศรัทธาเพิ่มมากขึ้นด้วย ก็ไม่รู้สึกว่าการที่ทำบุญผ่านเดลิเวอร์รี่แล้วจะทำให้เขาเข้าวัดน้อยลง แต่มองว่าเป็นโอกาส ทั้งนี้ ขณะนี้เหมือนกันเกือบทุกวัด สำหรับวัดที่อยู่ในเมือง โดยสิ่งของที่ญาติโยมสั่งทางแอปให้มาส่งถวายพระ ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำปาณะในช่วงบ่ายๆ ประกอบกับบริษัทที่จะส่งเดลิเวอร์รี่ก็ไม่คิดเงินเพิ่ม และราคาไม่จำเป็นต้องแพงก็ส่ง จึงง่ายต่อการทำบุญของญาติโยมไปตามวัดต่างๆ ซึ่งเป็นผลดีทั้ง 2 ฝ่าย คือ ญาติโยมได้ทำบุญ พระก็ดำรงชีวตอยู่ได้ด้วยความศรัทธาของญาติโยม และ ที่สำคัญเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย จากเดิมญาติโยมที่ขายของไม่ค่อยได้ เศรษฐกิจไม่ดี พอแอปพลิเคชั่นสั่งสินค้าในยุคดิจิทัลมาทำให้ร้านค้าต่างๆขายของได้มากขึ้น รายได้ก็ไปกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดการหมุนเวียนได้มากขึ้น เป็นการกระจายรายได้
พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปัญโญ พระลูกวัด วัดนิคมประทีป (วัดโคกหล่อ) อ.เมือง จ.ตรัง เจ้าของโพสต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีอีกเทรนด์หนึ่งนับจากวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา หลังจากที่ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อต่างๆ ไม่ใช้ถุงพลาสสติกใส่สินค้า ก็มีญาติโยม โดยเฉพาะนักเรียนจำนวนมาก เดินทางมาที่วัด เพื่อขอย่ามพระ เพื่อนำไปไว้ใช้สำหรับใส่สิ่งของเวลาไปซื้อของในห้าง หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขณะนี้ย่ามที่เคยมีในวัด หมดเกลี้ยง เหลือเฉพาะที่พระจำเป็นต้องใช้แล้วเท่านั้น จึงถือว่าได้วัดก็เป็นจุดเริ่มต้นหรือต้นแบบของการลดโลกร้อนมาประมาณ 2,500 กว่าปีแล้ว เพราะพระใช้ย่ามสะพายใส่ข้าวของที่ญาติโยมถวายให้มาก่อน
ทางด้านนางลำยอง เที่ยงธรรม อายุ 63 ปี ซึ่งก็เป็นญาติโยมคนหนึ่งที่สั่งน้ำปาณะผ่านเดลิเวอร์รี่ให้ส่งถึงที่วัด หากติดธุระออกไปซื้อไม่ได้ หรือตัวเองติดเดินทาง เนื่องจากทำทัวร์ แต่อยากทำบุญก็จะสั่งผ่านแอปใช้บริการเดลิเวอร์รี่ โดยบอกว่า ปกติจะเป็นคนทำกับข้าว หรืออาหารไม่เป็น ก็จะสั่งซื้อ เวลาอยากทำบุญหากไม่ว่างก็ใช้บริการเดลิเวอร์รี่ให้ส่งถึงวัดด้วยเช่นกัน ซึ่งปกติก็เป็นคนชอบเข้าวัด แต่เห็นว่าสะดวกดี และเป็นเรื่องใหม่ จึงอยากลอง
ด้านน้องคนส่งสินค้า ก็บอกว่า ขณะนี้มีคนสั่งน้ำให้ไปส่งถวายพระที่วัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ ซึ่งพอถวายพระก็ให้พร ก็ได้บุญด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: