ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง หมู่บ้านอนุรักษ์ลูกลมของเล่นชาวนาไทยแต่โบราณ และอุปกรณ์ไล่นก ไล่กาที่มากัดกินข้าวในนา ยังคงมีการสืบสานอนุรักษ์ไว้ เพื่อส่งมอบต่อลูกหลานไม่ให้สูญหายไป ขณะเดียวกันสร้างรายได้เสริมให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีฝีมือในการทำลูกลม เพื่อส่งขายนำไปประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง พื้นที่ทำนาที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง พบว่ายังมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงสืบทอดและถ่ายทอดวิธีการทำ “ลูกลม” และกลายเป็นจุดเรียนรู้ ผลิต และจำหนายลูกลมให้แก่ผู้ที่สนใจประจำตำบลนาหมื่นศรี โดยคุณตาประเสริฐ คงหมุน อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 21/1 หมู่ 2 ต.นาหมื่นศรี ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำลูกลมและปัจจุบันที่บ้านของคุณตาเปิดเป็นจุดเรียนรู้ ผลิต และจำหน่ายลูกลม กล่าวว่า อ.นาโยงเป็นพื้นที่ทำนามาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันถือว่าเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์การทำนาที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง เพื่อเอาไว้กินและบางส่วนก็เหลือส่งขาย ดังนั้น “ลูกลม” ซึ่งเป็นของเล่นของลูกชาวนาในสมัยก่อน จะมีการทำขึ้นมาในช่วงที่ข้าวออกรวงจนเหลืองสุกอร่าม และเป็นช่วงหน้าแล้งที่ลมพัดแรง ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงมีการทำลูกลมขึ้นมา เพื่อนำไปปักไว้กลางทุ่งนา เมื่อลูกลมโต้ลมก็จะมีเสียงดังออกมาลั่นทุ่ง ใช้สำหรับการไล่นก ไล่กาที่จะบินมากัดกินข้าวในนาได้ แต่ปัจจุบันคนที่ทำลูกลมเป็นเหลือน้อยแล้ว และเด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่เคยเห็นหรือรู้จักลูกลม แต่ที่ ต.นาหมื่นศรี ตนเองและชาวบ้านอีกหลายคนก็ยังทำลูกลมเอาไว้ไปปักกลางทุ่งนายามข้าวออกรวง และเริ่มเก็บเกี่ยว เพื่อไล่นก ไล่กาที่มากินข้าว เพราะชาวบ้านเก็บเกี่ยวไม่ทัน จนกระทั่งต่อมา อบต.นาหมื่นศรี จึงคิดจัดกิจกรรม “งานแข่งขันลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย ” ให้เป็นงานประจำปีขึ้นมา โดยชาวบ้านในหมู่บ้านก็จะช่วยกันทำลูกลมพร้อมประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามนับพันๆ ดอก นำไปปักไว้บริเวณริม 2 ฝั่งถนนที่ตัดผ่านกลางทุ่งนา สร้างความสวยงามและความประทับใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ คุณตาประเสริฐ เล่าว่า ตนเองและชาวบ้านทำลูกลม เป็น 2 ประเภท คือ ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเหมือนในขณะนี้ ก็จะทำเพื่อนำไปปักกลางทุ่งนาไล่นกไล่กาแล้ว ยังช่วยกันทำทั้งหมู่บ้าน นำไปปัก เพื่อจัดงานประจำปี “งานแข่งขันลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย ” ของชาว ต.นาหมื่นศรีด้วย ส่วนประเภทที่ 2 คือ การทำลูกลมเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจสั่งซื้อนำไปประดับตกแต่งร้านค้า บ้านเรือน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งปรากฎว่ามีคนสนใจเข้ามาสั่งซื้อจากในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จะมี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งถ้าทำใช้เองในหมู่บ้าน ชาวบ้านทุกคนจะใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติทั้งหมด เช่น ไม้ไผ่ ไม้กระดาน กาบทางมะพร้าว หวาย ย่านลิเภา เป็นต้น โดยไม้ไผ่ หรือไม้กระดาน นำมาผ่าแล้วเหลาให้แบนและบางเบา หรือตกแต่งให้มีลักษณะเป็นแผ่นยาว และดัด บิด ให้มีลักษณะพิเศษบูดๆเบี้ยว ทำเป็นใบพัด เพื่อรับลม ใช้ไม้ หรือไม้ไผ่ หรือหวายตัดสั้นทำเป็นแกนกลางสำหรับหมุน ใช้ไม้ไผ่ตัดกลม ที่อีกด้านตัดเป็นเหลี่ยมปากเป็ด นำไปผูกติดไว้บริเวณด้านข้างของใบพัด เพื่อใช้สำหรับรับลมและจะมีเสียงหวูดดังเกิดขึ้น เวลาต้องลม โดยมีเชือกมัดที่ทำย่านลิเภาซึ่งแข็งแรง แล้วยังประดับตกแต่งด้วยเครื่องทรงสีสันต่างๆ ทั้งส่วนหางทำจากทางหวาย หรือใบไม้ ส่วนบนประกับตกแต่งด้วยธง เพื่อความสวยงาม สีสันสดใส แต่ละเดือนมียอดสั่งซื้อจำนวนมาก สร้างรายได้เสริมหลักหลายพันบาทต่อเดือน ขณะเดียวกันมีครู นำเด็กและเยาวชนมาศึกษาเรียนรู้ไม่ขาดสาย ทั้งนี้ นอกจากมีรายได้เสริมแล้ว ที่สำคัญยังได้สืบทอด และถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี ภูมิปัญหาท้องถิ่นเอาไว้ไม่ให้สูญหายด้วย
คุณตาประเสริฐ กล่าวอีกว่า แต่ในส่วนของลูกลมที่มีการสั่งซื้อ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลาง บางส่วนประกอบต้องนำนวัตกรรมใหม่มาทดแทนไม้หรือทดแทนวัสดุธรรมชาติ เพราะผู้ซื้อต้องการนำไปประดับตกแต่งบ้านเรือน ร้านค้า หรือสถานที่ ซึ่งต้องการความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นานที่สุด นอกจากใช้ไม้ หรือไม้ไผ่แล้ว ตรงแกนกลางสำหรับหมุนต้องทำจากอลูมิเนียมหรือเหล็ก ( คุณตาบอกว่าต้องใช้ลูกปืน.แทน เป็นคำเรียกทางช่าง ) โดยตัวใหญ่พร้อมเครื่องทรง ขายราคาตัวละ 5,000 บาท แต่คนซื้อต้องไปติดตั้งเอง หรือหากให้ไปติดตั้งให้ด้วยต้องคิดเพิ่มตามระยะทางไกล้ไกล ทั้งนี้ มีลูกค้าสั่งซื้อจากต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทั้งจาก จ.พัทลุง ,สตูล ,นครศรีฯ รวมทั้งกระบี่
ข่าวน่าสนใจ:
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางไปดูพื้นที่ทุ่งนาหมื่นศรี นับจากบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวหน้าถ้ำเขาช้างหาย และตลอดริมถนนคลองชลประทาน ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรม “งานแข่งขันลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย” อ.นาโยง นั้นพบว่าบรรยากาศคึกคักไปด้วยเสียงดังของลูกลมหลายพันดอกที่ส่งเสียงดัง”หวึ่ง ๆๆๆ หรือหวีดหวิวๆๆ เมื่อกระทบกับลม ทั้งดอกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ติดตั้งไว้ตลอดระยะทางยาวประมาณ 1 กม.ที่ชาวบ้าน ต.นาหมื่นศรี ทำและนำมาปักประดับตกแต่งตลอด 2 ข้างทาง ที่แวดล้อมด้วยทุ่งนาที่ชาวบ้านกำลังอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว และยังมีร้านค้าต่างๆที่สร้างขึ้นแบบกลมกลืนธรรมชาติ ซึ่งงานนี้จัดขึ้นโดยองค์การบริหารส่วนตำบลนาหมื่นศรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง ระหว่างวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์2563 และปีนี้นับเป็นครั้งที่ 23 ซึ่งในการแถลงข่าวก็มีการแสดงกลองยาว การสาธิตการนวดข้าวแบบดั้งเดิม โดยคนใช้เท้านวดข้าวให้หลุดออกจากรวง จากนั้น ลูกลมที่นำมาจัดแสดงดังกล่าว ก็จะมีการจัดประกวดด้วย ทั้งประเภทขนาด ใหญ่ และประเภทขนาดเล็ก เกณฑ์การตัดสินประเภทเสียงไพเราะ ประเภทสวยงาม ทั้งนี้หากนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชาวนา ที่ต.นาหมื่นศรี สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะได้ชมลูกลม ได้ยินเสียงของลูกลมดังกระหึ่มท้องนา สร้างบรรยากาศ ท้องทุ่งนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะยามเช้า และยามเย็น ซึ่งจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจำนวนมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: