X

ตรัง เวทีทางเลือกทางรอดชาวสวนยางพารา

กยท. ร่วมกับ สส.ตรัง จัดเวทีทางเลือกทางรอดชาวสวนยางพารา รับฟังปัญหารอบด้าน นำสู่การแก้ปัญหาตรงให้ตรงจุด
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีการเสวนาหัวข้อ “ทางเลือก ทางรอด ชาวสวนยาง” จัดโดยการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง นำโดย นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.เขต 3 และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.เขต2 พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังมีนายขจรจักร นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่ากยท. นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.ตรัง) เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมอย่างคับคั่งกว่า 500 คน โดยมีการแบ่งกลุ่มเสวนาย่อยเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาตลอดจนข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า 2.คุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง 3.สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ4.ราคายางพาราและนโยบายประกันรายได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยนายสมชาย นิลตะ เกษตรกรจากอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรังเสนอให้ใช้กฎหมายกำกับให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในชิ้นงานเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างโดยระบุให้ยางพาราเป็นส่วนผสม และดำเนินการให้กยท.เป็นหนึ่งในเสือการยาง โดยให้ยางทั้งระบบขายผ่านตลาดกลางของกยท.และเอาราคากลางจากกยท.กำหนดการซื้อขาย ขณะที่นายณัฐวุฒิ ศรีสวัสดิ์ อดีตกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านคลองปางจำกัด กล่าวว่า เรื่องราคายางจากต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำมีความแตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น ราคายางพารายางตรัง ราคาแค่กิโลกรัมละ 40 บาท แต่เมื่อเดินทางไปถึง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ราคาปรับเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท กระทั่งเมื่อถึงประเทศมาเลเซีย ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 70 บาท เมื่อเห็นความต่างของราคาชัดเจนอย่างนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้มีพ.ร.บ.ควบคุมราคายาง โดยภาครัฐต้องจริงจังและจริงใจในการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันพ่อค้าคนกลางและโรงงานเป็นผู้กำหนดราคา เป็นไปได้หรือไม่ที่กยท.จะเป็นผู้ซื้อยางแล้วส่งขายให้โรงงาน โดยกำหนดราคายางเป็นรายปี

ด้านนายมนัส หมวดเมือง ตัวแทนจากชุมนุมสหกรณ์บ้านหนองครก อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรแปรรูปหมอนยางพาราแห่งแรกในจังหวัดตรัง กล่าวว่า การแปรรูปยางพาราต้องต่อสู้เรื่องการตลาดอย่างมาก ปัญหาคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์แล้วขายไม่ได้ ทั้งที่สินค้ามีคุณภาพดี ไม่เคยมีใครหันมามองว่าจะขายผลิตภัณฑ์อย่างไร จึงขอให้รัฐบาลสร้างค่านิยมในการใช้ยางพาราไทยอย่างจริงจัง นอกจากนี้ต้องมีการลดหย่อนภาษีสินค้ายางพาราจากเกษตรกร รวมทั้งผู้ซื้อสินค้าจากยางพาราไทยต้องนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย

“วันนี้นโยบายรัฐที่สนับสนุนหมอนยางพาราประชารัฐ กลุ่มเกษตรกรเองจะมีโอกาสเข้าถึงแค่ไหน เพราะตอนนี้กลุ่มเกษตรกรยังไม่รู้ว่า รัฐมาซื้อที่ไหน เอาสินค้าจากไหนบ้าง กลุ่มสหกรณ์จะตั้งโรงงานในวันนี้เราติดขัดข้อกฎหมายมากมาย โดยเฉพาะผังเมือง จะทำอะไรก็ติดขัด กลุ่มสหกรณ์ซื้อน้ำยางมา แต่กลับต้องนำน้ำยางไปขายโรงงานน้ำยางข้นของเอกชน แล้วซื้อน้ำยางข้นจากเอกชนมาทำหมอนยางพาราอีกที เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้กลุ่มเกษตรกรตั้งโรงงานน้ำยางข้นได้”นายมนัสกล่าว

ด้านนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องของราคายางอยู่ที่โครงการใช้ยางภาครัฐ เรื่องการใช้ยางพาราทำถนนนั้นรัฐบาลทราบดีแล้ว แต่ไม่แก้ปัญหา เครือข่ายชาวสวนยางเคยเสนอให้กฎหมายในการนำยางพารามาผสมทำถนนแอตฟัลติกให้ไม่น้อยกว่า 5% ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้

“ดังนั้นสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราจะเดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตลอดจนตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับการนำยางพารามาทำถนนเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยาง ตลอดจนแก้ไขระเบียบพัสดุต่างๆ เรื่องนี้ทุกกระทรวงต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ยางต้องใช้ในหน่วยงานภาครัฐก่อน วันนี้หลายฝ่ายตำหนิกลุ่มเกษตรกรว่าทำโรงงานทั้งที่ยังไม่ดูตลาด แต่ทำไมหน่วยงานภาครัฐกลับไม่ใช้ยางจากเกษตรกร ตั้งแต่คสช.เข้ามาผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า รัฐเข้าไปดูแลกลางน้ำได้ไหม อย่าให้ทุนต่างชาติเข้ามาครอบงำ มาวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยคิด และไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหา วันนี้กลางน้ำเป็นของกลุ่มทุนต่างชาติ ส่วนต้นน้ำคือเราที่เป็นเกษตรกรกลับเป็นทาส”นายถนอมเกียรติกล่าว

นายถนอมเกียรติกล่าวอีกว่า ด้านการตลาดกลุ่มเกษตรกรเสนอมาตลอดในเรื่องตลาดกลางสามประสานให้เกิดขึ้นจริง เพราะตอนนี้ยางเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการของกยท.เพียงไม่เกิน 10% เท่านั้น ไม่นั้นนายทุนจะยังคงกำหนดราคาอยู่วันยันค่ำ ทั้งหมดเป็นการเตรียมการเพื่อให้เกิดตลาดไทยคอมซึ่งเป็นตลาดซื้อขายยางพาราโลกในอนาคต เป้าหมายคือเมื่อใดยางกว่า 50% เข้าสู่ระบบของกยท. ตลาดไทยคอมจะเกิดขึ้นได้จริง เรื่องการแก้ไขปัญหาราคายาง การประกันรายได้ไม่ได้ช่วยเรื่องราคายาง วิธีการที่ดีที่สุดคือ ดันราคายางให้สูงขึ้น เป็นการรักษาเสถียรภาพราคายางด้วยการจูงใจให้ยางเข้าสู่ระบบมากขึ้น วันนี้ชาวสวนยางไม่มีเงิน และเรื่องที่อันตรายมากคือปัญหาที่จะเกิดกับสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับยางพารา NPL หรือหนี้สูญจะเกิดขึ้น ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น เงินกู้จะลดลง

ด้านนายขจรจักร นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวชี้แจงประเด็นการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราว่า เรื่องการแปรรูป โดยเฉพาะหมอนยางพาราในวันนี้ต้องกลับมามองกันใหม่ วันนี้ประเทศไทยส่งออกน้ำยางข้นไปประเทศจีนปีละ 4 ล้านตัน โดยร้อยละ 30 นำไปผลิตถุงมือยาง และตนขอเตือนให้ระวังให้ดีในเรื่องการทำหมอนยางพารา เพราะจีนมีเมืองที่ผลิตหมอนยางพาราขนาดใหญ่ ที่ฮูฮั่น และ 3-4 เมือง การทำหมอนยางพาราของไทยจึงไม่ง่าย ถ้าเราตั้งโรงงานที่มีขนาดไม่เพียงพอ เช่นเราตั้งโรงงานหมอนยางในประเทศไทยที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านใบ แต่โรงงานในจีนผลิตได้ 10 ล้านใบ แถมยังตีตราว่า Made in Thailand อีกด้วย เจ็บปวดหรือไม่

“เรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยางไทย ปัญหาคือถ้าเราทำสเกลเล็ก ต้นทุนจะสูง ไปแข่งขันกับเขาไม่ได้ สมมุติหากจังหวัดตรังจะทำโรงงานแปรรูปยาง ก็ต้องไปชวนจังหวัดรอบๆมาร่วมลงทุนด้วย ทำให้ใหญ่ไปเลย ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจะน้อยลง บอกตรงนี้เลยว่าต้นทุนของจีนผลิตหมอนยางพาราใบละแค่ 80 บาท แต่กลับขายปลีกใบละ 1,000 บาท แล้วเราจะไปสู้เขาได้อย่างไร”นายขจรจักษณ์ระบุ

นายขจรจักร กล่าวว่า เรื่องราคายาง อีกประเด็นที่สำคัญคือ ต้นทุน กับสต๊อกยาง เราไม่ควรเปิดเผย เพราะปัญหาเรื่องกลไกราคาส่วนหนึ่งมาจากผู้ซื้อยางรับรู้ต้นทุนและสต๊อกยาง จึงมีการกดราคาเพื่อทำกำไร โดยซื้อในราคาถูกกว่าต้นทุนเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด

“ตั้งแต่มีนโยบายประกันรายได้ กยท.ทำงานอย่างหนัก เหตุที่ทำให้การจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ล้าเพราะมีรายชื่อเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ซ้ำซ้อนในรายละเอียด อาทิ ชื่อซ้ำ และบางรายได้บัตรเชียวแล้ว ยังต้องการได้บัตรชมพูอีก นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ในส่วนของบัตรชมพูคือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่จ่ายล่าช้า เพราะติดขัดความเห็นที่ไม่ตรงกันของหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานบางหน่วยงานทักท้วงว่าจ่ายให้บัตรชมพูไม่ได จนกระทั่งนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์เรียกมาคุยกับ สุดท้ายหน่วยงานที่ทักท้วงก็บอกว่าจ่ายได กยท.ก็เร่งดำเนินการทันที

นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จังหวัดตรังเป็นจังหวัดแรกที่นำยางพารามาปลูกจนสารมรถสร้างรายได้ใก้แก่คนตรังรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ นับเป็นพระคุณของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ผู้นำต้นยางต้นแรกมาปลูกในประเทศไทย แต่วันนี้ปากท้องชาวสวนยางกำลังมีปัญหา ด้วยราคายางที่ตกต่ำ การเสวนาในครั้งนี้จึงไม่แยกพรรคแยกฝ่าย ทุกภาคส่วนสามารถช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อแสนอเป็นทางเลือกทางรอดแก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ทั้งสิ้น และเป็นการเสนอทางออกที่มีคุณภาพมากกว่าการประท้วง

ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.เขต2 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันยางพาราได้เปลี่ยนจากพืชเศรษฐกิจ ไปสู่พืชการเมืองไปแล้ว กระทั่งล่าสุดนำมาสู่การเป็นพืชสวัสดิการ คือ รัฐต้องอุดหนุนงบประมาณ โจทย์วันนี้คือทำอย่างไรให้ยางพารากลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนเดิม แต่ด้วยกระบวนการของยางพารามีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะเรื่องกลไกราคา ซึ่งหากสามารถทำให้ยางพารากลับมาเป็ยพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงแก่เกษตรกรทุกคน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และที่สำคัญการประกันรายไดซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

“วันนี้ชาวสวนยางเองจึงต้องช่วยกันนำเสนอ เพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป เพราะว่ารัฐบาลปัจจุบันนั้น โดยโครงสร้างของเสียงในสภาไม่ได้มีเสียงที่แข็งแกร่ง ถึงถือว่าจะมีความอ่อนไหวต่อเสียงของคนทั้งประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องฟัง และยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่รับผิดชอบเรื่องยางพาราอย่างเลี้ยงไม่ได้ เพราะเราดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เรายิ่งต้องชับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้ให้ได้ แต่เรื่องยางไม่ควรเป็นประเด็นการเมือง ควรเป็นเรื่องประเด็นปากท้องมากกว่า ข้อสรุปในวันนี้จะต้องนำไปสู่คนกำหนดนโยบาย เพราะรัฐบาลนี้จะต้องเผชิญมรสุมอีกเยอะ มรสุมลูกแรกคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ในเรื่องคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และอีกมรสุมคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ มรสุมทั้ง 2 ลูกนี้จึงมีความสำคัญ ข้อเสนอของชาวสวนยางในวันนี้ คือการตีเหล็กที่กำลังร้อน และรัฐบาลต้องอ่อนไหวต่อข้อเสนอของประชาชนในวันนี้ด้วย”นายสาทิตย์กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน