X

กกพ. พร้อมเครือข่าย “พลังแดด” ลงพื้นที่ดูงานลันตา Go Green

“กกพ.” ชวนเครือข่าย “พลังแดด” ลงพื้นที่เกาะลันตา ดูงาน “ลันตา Go Green” เกาะต้นแบบ พลังงานสะอาด “โซลาร์เซลล์” ช่วยลดค่าไฟ คุ้มค่าลงทุน ใช้พลังงานยั่งยืน ผอ.รพ.จะนะ ยัน ทำแล้วได้ผล ลดค่าไฟเฉลี่ยปีละ 3 แสน

เมื่อวันที่ 7-8 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำโดยดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการ กกพ. พร้อมคณะ ประกอบด้วย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตานี นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษานายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตา นำผู้ประกอบการทั่วประเทศจากหลายภาคส่วน อาทิ ภาคเกษตร ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม พร้อมสื่อมวลชน กว่า 50 คน ตลอดจนผู้ที่สนใจต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ สร้างเป็นเครือข่าย “พลังแดด” ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเรียนรู้พลังงานสะอาดในพื้นที่เกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งถือเป็นต้นแบบของภาคใต้ที่สามารถใช้โซลาร์เซลล์ในรูปแบบของธุรกิจอย่างเห็นได้ชัดเจน จนเกิดการริเริ่มดำเนินการโครงการที่เรียกว่า “อันดามัน Go Green” โดยลงพื้นที่ศึกษาดูการดำเนินงาน 4 จุดได้แก่ 1. ร้านลันตา มาร์ท ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ 2.อาทยา รีสอร์ท 3.งานลานตา ลันตา กับวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวสังกาอู้ และ 4.คาซ่าบลังก้า รีสอร์ท

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า กกพ.เป็นตัวแทนของประชาชนที่เลือกเข้ามา ทำหน้าที่เป็นกลไกที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่ในพื้นที่ ถือเป็นการสื่อสารและการมีส่วนร่วมด้านพลังงาน โดยมีวิสัยทัศน์คคือ กำกับกิจการพลังงานเพื่อความยั่งยืน เราดูแล 2 เรื่อง คือไฟฟ้า และแก๊สซึ่งนำไปผลิตไฟฟ้า โดยมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่มุ่งเน้นพัฒนาความรู้ด้านพลังงาน ซึ่งขณะนี้มี 18 ภาคีเครือข่ายความร่วมมือสนับสนุน อาทิ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (back) โดยเฉพาะสถาบันอาศรมศิลป์ที่กำลังทำโครงการให้เกาะยาวน้อย เป็นต้น

“ปัจจุบันกองทุนด้านพลังงาน มีเยอะมาก อาทิ กองทุนซึ่งดำเนินการรอบโรงไฟฟ้า ตั้งแต่กองทุนเล็กไปถึงใหญ่ โดยมีกรรมการมาจากรอบโรงไฟฟ้า , กองทุนวิจัยและพัฒนา , กองทุนการสื่อสารพลังงาน , กองทุนอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าของผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้ดูแล เราอยากเห็นการเปลี่ยนประเทศไทย 1 องศา คือทิศทางการพัฒนาประเทศ ไปสู่ Green economy แม้เพียง 1 องศา แต่หากคือการเดินเรือ มันเป็นการเปลี่ยนประเทศมากมาก แม้แต่อุณหภูมิ 1 องศาที่เปลี่ยนแปลง ก็ช่วยโลกได้มาก”ดร.บัณฑูรระบุ

ด้านนพ.สุพัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของโรงพยาบาลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ว่า จริงๆ แรงบันดาลใจสำคัญอันหนึ่งที่โรงพยาบาลจะนะทำเริ่มต้นจากสิ่งที่ จ.กระบี่ทำ คือเป็นกระแสโรงพยาบาลสีเขียวที่ต้องการพลังงานสะอาด เพราะเมื่อ 3-4 ปีก่อนเกิดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.สงขลา และ จ.กระบี่เยอะมาก ที่อำเภอจะนะ จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่ายหินขนาด 2,200 เมกกะวัตต์ เราเลยคิดเรื่องนี้กันเพราะเชื่อว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ แต่ปัญหาคือไม่มีงบประมาณดำเนินการ ปัจจุบันโรงพยาบาลจะนะ มีค่าไฟฟ้าประมาณ 300,000 บาทต่อเดือนและมีโนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าไฟหลักนั้นมาจากเครื่องปรับอากาศมากที่สุด ขณะที่งบบริหารมี 80 ล้านบาทไม่รวมเงินเดือนข้าราชการ ค่าไฟฟ้าจึงคิดเป็นสัดส่วนถึง 2-3%

นพ.สุพัทร กล่าวอีกว่า เมื่อยังไม่มีงบประมาณ โรงพยาบาลจึงเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อประหยัดไฟ จนกระทั่งได้งบประมาณครั้งแรกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ปีแรกสามารถลดค่าไฟได้เดือนละหมื่นกว่าบาท จาก 300,000 กว่าบาทที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน โดยเริ่มแรกทั้งปียังลดได้เพียง 100,000 กว่าบาท ต่อมาในปี 2560 โรงพยาบาลได้เข้าโครงการของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน จนสามารถดำเนินการเพิ่มได้ จนขณะนี้โรงพยาบาลจะนะสามารถประหยัดไฟได้เดือนละ 3-4 หมื่นบาท แต่ทั้งนี้ต้องดำเนินการร่วมกับการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า เช่น การซักผ้า อบผ้า การฆ่าเชื้อ ซึ่งใช้ไฟมาก ดังนั้นเราต้องทำก่อน 09.00 จากนั้นเราเริมเปิดแอร์ ทั้งหมดช่วยลดการพีคของไฟ ซึ่งช่วยลดค่าไฟได้มโหฬาร นอกจากนี้กระจกที่โดนแดดทั้งวันก็มีผู้บริจาคติดฟิล์มให้ซึ่งช่วยลดค่าไฟได้มาก โดยสรุปปัจจุบันโรงพยาบาลจะนะติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ช่วยลดค่าไฟได้ปีละ 300,000 บาท คำนวนแล้ว 5-6 ปีคืนทุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเกาะลันตานับว่าเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่จากปัญหาความไม่เสถียรของกระแสไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และรีสอร์ทต่างๆ บนเกาะต่างหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับกิจการของตัวเองอย่างแพร่หลาย เริ่มจากนายไพบูลย์ เตชจารุวงศ์ อดีตวิศรกรคอมพิวเตอร์ เจ้าของร้านพาโนรามา เขาเป็นผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์รายแรกปัจจุบันโซลาร์เซลล์ของพาโนรามามีกำลังผลิตประมาณ 1,300 วัตต์ ต่อใช้งานกับปั๊มชักกับพัดลมกระแสตรง และมีแบตเตอรี่เก็บไฟสำหรับส่งผ่านอินเวอร์เตอร์ขนาด 4,000 วัตต์ แปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อป้อนเครื่องทำน้ำแข็ง 2 เครื่อง, เราเตอร์, เครื่องเสียง, ทีวี และตู้เย็น 1 เครื่องในช่วงกลางวัน ต่อมาในปี 2558 ร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่อย่างลันตา มาร์ทไดติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวน 160 แผง รวม 48 กิโลวัตต์ ช่วยตอบโจทย์ในด้านของปัญหาไฟฟ้าตก ดับ กระชาก และยังรวมไปถึงการทำให้ร้านลันตามาร์ท สามารถลดค่าไฟฟ้าจาก 120,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 70,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น จากผลลัพธ์เชิงประจักษ์ ที่ทำให้เห็นถึงศักยภาพ และความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ทในเกาะลันตา เริ่มทยอยติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เกาะลันตาจึงกลายเป็นเกาะแห่งแรกของประเทศไทยที่มีระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยวใช้ทั่วไปบนเกาะและสามารถลดภาระให้กับระบบไฟฟ้าสายส่งของภาครัฐได้ จนกลายเป็นจุดขายให้กับการท่องเที่ยวของเกาะลันตาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน