พบครอบครัวโลมาหลังโหนกพ่อแม่ลูกมารวมตัวกันว่ายน้ำเล่น ที่บริเวณหน้าท่าเรือตะเสะ อ.หาดสำราญ จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ เพราะมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวแห่กันไปชม
วันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่บริเวณท่าเรือตะเสะ หมู่ที่ 4 ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปลงเรือเพื่อข้ามฝั่งไปท่องเที่ยวเกาะสุกร อ.ปะเหลียน ต่างตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสพบเห็นฝูงโลมา ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากประจำถิ่นอ่าวตะเส๊ะ ในพื้นที่ 2 อำเภอ 1 ทะเล คือ อ.หาดสำราญ และอ.ปะเหลียน จ.ตรัง ที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงน้ำใหญ่ 8 – 15 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง ฝูงโลมาก็จะว่ายน้ำเข้ามาหากินเศษปลาตัวตัวเล็กๆที่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจับได้แล้วนำเข้าฝั่ง หลายตัวจึงพากันมาว่ายน้ำเล่นและกินเศษปลาอย่างสนุกสนาน ทำให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสพบเห็นฝูงโลมาทุกวันในช่วงน้ำใหญ่ตามเวลาดังกล่าว โดยเข้ามาหาใกล้ฝั่งทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน บางครั้งว่ายเข้ามาถึงเรือของชาวบ้านที่จอดอยู่ที่สะพาน โดยเฉพาะที่บริเวณท่าเรือตะเสะ พบฝูงโลมานับ 10 ตัว พากันว่ายน้ำเล่นและหากินเศษปลา แต่ภาพที่น่ารักและน่าประทับใจคือ พบครอบครัวโลมาหลังโหนก หรือโลมาสีชมพู พ่อ แม่ ลูก ประมาณ 4-5 ตัว พากันว่ายน้ำเล่นอวดโฉมนักท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อโชว์โฉมเล่นน้ำพลิกตัวไปมา หรือกระโจนขึ้นเหนือนำ จะเห็นว่าลำตัวทั้งสีดำ และสีขาว ท่ามกลางเรือของชาวประมง เรือข้ามฟาก และเรือของนักท่องเที่ยวที่ขับผ่านไปมา โดยไม่มีท่าทีตกใจกลัวแต่อย่างใด แต่ยังเล่นน้ำอย่างสบายใจใกล้ๆ เรือ โดยเรือบางลำที่มีนักท่องเที่ยวก็จะชะลอให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
จากการสอบถามชาวประมงพื้นบ้าน และนายยงยุทธ แม่น้ำ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/14 หมู่ที่ 4 ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง ซึ่งทำอาชีพชาวประมง ต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวว่า พื้นที่อ่าวตะเส๊ะ จะหนาแน่นไปด้วยโลมาจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณหน้าท่าเรือตะเสะแห่งนี้ นอกจากฝูงโลมาตัวอื่นๆ แล้ว ยังมีครอบครัวโลมาหลังโหนก พ่อ แม่ลูก เข้ามาว่ายน้ำเล่น และหากินเป็นประจำ โดยจะมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวแห่กันมาชื่นชมและถ่ายภาพเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญไปแล้ว ทั้งนี้ เวลาที่จะสามารถพบเห็นโลมาเข้าเล่นน้ำใกล้ๆ ฝั่งคือ ในช่วงน้ำใหญ่ประมาณ 8 – 15 ค่ำ โดยจะพบเห็นได้ในช่วงเช้าในช่วงที่น้ำทะเลขึ้น เพราะต้องการมากินเศษปลาของชาวบ้านที่กลับจากวางอวนแล้วนำมาขึ้นที่บริเวณท่าเรือ โดยชาวบ้านก็จะโยนปลาให้กิน หรือบางส่วนก็หลุดออกจากอวน กลายเป็นอาหารอันโอชะของพวกมัน และบางครั้งก็จะว่ายเข้ามาเล่นอยู่ข้างเรือ จากนั้นจะว่ายน้ำกลับไปเมื่อน้ำทะเลลดต่ำลง เพื่อกลับไปอาศัยหากินอยู่บริเวณร่องน้ำลึกต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ชื่นชมชุมชนท่องเที่ยวร่วมใจเก็บขยะบนเกาะเหลาเหลียง
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามนายแสวง ขุนอาจ คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์โลมาบ้านตะเสะ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จ.ตรัง กล่าวว่า โลมาในพื้นที่อ่าวตะเสะ หรือพื้นที่ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพื้นที่โซนนิ่งดูแลอนุรักษ์ร่วมกัน ภายใต้โครงการ “ 2 อำเภอ 1 ทะเล (อ.หาดสำราญ และ อ.ปะเหลียน )” มีจำนวน 4 ชนิด ประกอบด้วย โลมาอิระวดี โลมาหลังโหนก โลมาปากขวด และโลมาสีชมพู โดยทางกลุ่มได้ออกกติกาชุมชนร่วมกันในการดูแลอนุรักษ์ รวมทั้งมีการจัดเรือออกลาดตระเวนดูแลในการเฝ้าระวังไม่ให้เป็นอันตรายจากเครื่องมือทำประมงต่างๆ ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ทำประมงก็จะร่วมมือกันในการดูแลเต็มที่ เช่น ประมงอวนปลาหลังเขียว โลมามักว่ายน้ำเข้าไปหา โดยที่ชาวบ้านจะโยนปลาให้กินห่างจากอวน เพราะหากเข้าใกล้ก็กลัวจะติดอวน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกัน จึงทำให้โลมาทั้ง 4 ชนิด มีอย่างชุกชุมในอ่าวตะเสะ โดยคณะกรรมการกลุ่มที่ออกลาดตระเวนก็ทำการสำรวจไปด้วย ทั้งนี้พบว่า โลมาอิราวดี ประมาณ 60 ตัว ,โลมาหลังโหนก กว่า 100 ตัว โลมาปากขวด ประมาณ 80 ตัว และโลมาสีชมพู ประมาณ 6 คู่ แสดงให้เห็นว่า ทะเลตรังยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างดี ทั้งจากภาครัฐ และชาวประมงพื้นบ้าน จนทำให้มีประชากรสัตว์น้ำนานาชนิดอย่างชุกชุม รวมทั้งโลมา เต่าทะเล และโดยเฉพาะพะยูนที่มีฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: