หนุ่มสถาปนิกและครอบครัวใช้วิชาความรู้จากงานไม้ และงานออกแบบ จัดทำอุปกรณ์ตรวจรักษาและคัดกรองผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อมอบให้แก่คุณหมอ พยาบาล โรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาลอื่นๆในจังหวัดตรังฟรี เพื่อใช้สำหรับตรวจรักษาและคัดกรองผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อช่วยเหลือแพทย์และเจ้าหน้าที่ทำงานโดยไม่เสี่ยงกับการรับเชื้อ โดยมีเพื่อนๆ ภาคเอกชน ชาวบ้าน ที่ทราบข่าวร่วมใจสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ โดยขณะนี้ส่งมอบไปแล้วกว่า 40 ตู้ มูลค่าตู้ละประมาณ 1,500 บาท
วันที่ 6 เมษายน 63 ที่ร้านสุทธิรักษ์เฟอร์นิเจอร์ เลขที่ 3/3 ถ.ห้วยยอด ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง นายอภินันท์ ลัคนาศิโรรัตน์ อายุ 39 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน รับออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และเป็นสถาปนิกรับตกแต่งภายใน ร่วมกับพนักงานภายในร้านใช้ความรู้ความชำนาญในวิชาชีพออกแบบ ทำ Patient Screening Shield ซึ่งเป็นตู้ หรือฉากกั้นสำหรับการตรวจรักษาคัดกรองผู้ป่วยโควิด19 เพื่อมอบให้โรงพยาบาลตรัง และ โรงพยาบาลอื่น ๆ ในจังหวัดตรัง โดยฉากคัดกรองผู้ป่วยที่ทำขึ้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ ประเภทที่ 1 ฉากกั้นคัดกรองผู้ป่วย ความสูง 70 ซม. และ และความสูง 90 ซม. ประเภทที่ 2 คือ ฉากครอบศีรษะสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ขนาด 72 ซม.โดยชิ้นงานทั้งหมดผลิตจาก แผ่นอะคริลิค และใช้วิธีการตัดด้วยระบบเลเซอร์ เพื่อให้ได้ขนาดและรูปทรงที่ได้ออกแบบไว้แล้วอย่างแน่นอนแม่นยำ โดยขณะนี้ได้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาลอื่น ๆ ในจังหวัดตรังไปแล้วประมาณ 40 ตู้
นายอภินันท์ ลัคนาศิโรรัตน์ อายุ 39 ปี กล่าวว่า ตนได้ระดมคนงานภายในร้านเฟอร์นิเจอร์ มาเร่งผลิตชิ้นงานดังกล่าว เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาลต่างๆ ตามที่แพทย์ของโรงพยาบาลร้องขอมา ซึ่งทุกชิ้นจะบริจาคให้กับโรงพยาบาลฯ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งไม่คิดค่าแรง ส่วนอุปกรณ์สำหรับใช้ทำ เช่น แผ่นอะคริลิคใส น้ำยาประสานอะคริลิค ที่นำมาผลิตจะได้รับการสนับสนุนมาจากเพื่อนๆ คนที่ทราบข่าว และเครือข่ายหมอ พยาบาล โรงพยาบาลตรัง ร่วมกันบริจาคสำหรับซื้ออุปกรณ์ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายต่อตู้หรือต่อชุดที่ทำตกราคาต้นทุนชิ้นละประมาณ 1,500 บาท แต่ตนเองและครอบครัว รวมทั้งพนักงานในร้านช่วยกันเร่งทำให้ฟรี เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลได้มีตู้ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วย และใช้สำหรับคัดกรองผู้ป่วย เพื่อป้องกันหมอ พยาบาลได้รับเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย โดยขณะนี้ส่งมอบชิ้นงานให้กับทางโรงพยาบาลไปแล้วจำนวน 40 ตู้ โดยทางหมอจะรับไปดำเนินการเอง ทั้งนี้ ความยากของการผลิตคือการถอดแบบ และทำต้นแบบออกมาให้เหมาะสมกับภาพการใช้งานของแต่ละโรงพยาบาล เดิมตนผลิตตามแบบที่มีการเผยแพร่ตามอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อผลิตออกมากลับไม่เหมาะกับการใช้งานในโรงพยาบาลตรัง เพราะเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในแต่โรงพยาบาลมีขนาดแตกต่างกัน จึงต้องปรับแบบให้เหมาะสม
นางสาวชินานาฎ กางอิ่ม อายุ 37 ปี กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับการประสานจากแพทย์โรงพยาบาลตรัง เพื่อหาร้านผลิตตู้คัดกรองดังกล่าว ซึ่งครอบครัวของตนเป็นร้านผลิตเฟอร์นิเจอร์ และงานตกแต่งภายใน จึงความพร้อมเครื่องมือ และแรงงาน จึงอาสาผลิตให้กับโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเริ่มระดมทุนจากกลุ่มผู้ประกอบการตลาดกรีนชินตา ที่ตนเป็นผู้บริหารอยู่ ตลอดทั้งกลุ่มเพื่อน และบริษัทห้างร้านต่าง ๆ รวมทั้งเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาค ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดี ซึ่งตนและครอบครัวต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนทีมแพทย์ซึ่งทุ่มเททำงานอย่างหนัก และดีใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: