X

ตรัง วางทุ่นกำหนดเขต​ พท.อภัยทานพะยูนทะเลตรัง


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 10 (สบทช.10) เครือข่ายกลุ่มพิทักษ์ดุหยง และเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ร่วมกันวางทุ่นกำหนดเขตพื้นที่อภัยทานพะยูน เนื้อที่รวมประมาณ 2,000 ไร่ บริเวณหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ถึงหน้าแหลมจุโหย ภายในเขตห้ามล่าฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง สามารถบันทึกภาพพะยูนฝูงใหญ่ได้มากถึง 22 ตัว รวมทั้งพะยูนคู่แม่ลูกครั้งล่าสุด

วันที่ 26 เมษายน 2563 ที่บริเวณหน้าที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 10 (สบทช.10) กลุ่มพิทักษ์ดุหยง และเครือข่ายประมงพื้นบ้าน พร้อมเรือจำนวน 6 ลำ ร่วมกันนำทุ่นไข่ปลา ออกไปวางบริเวณแนวเขตหญ้าทะเลที่บริเวณหน้าที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง – แหลมจูโหย ภายในเขตห้ามล่าฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง สามารถบันทึกภาพพะยูนฝูงใหญ่ได้มากถึง 22 ตัว รวมทั้งพะยูนคู่แม่ลูกครั้งล่าสุด โดยเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ ถิ่นหากินและอาศัยสำคัญของพะยูนในทะเลตรัง โดยในครั้งนี้สามารถวางทุ่นได้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อกำหนดพื้นที่คุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล คุ้มครองพะยูน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการทำประมง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางทะเล พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการคุ้มครองพื้นที่ให้เข้มข้นอย่างเป็นระบบและครอบคลุม เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่ง และสัตว์ทะเลหายากประเภท เต่าทะเล โลมา และพะยูน รวมทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยจัดทำเป็นเขตพิเศษ “อภัยทาน “ ปลอดเครื่องมือทำประมงและเรือทุกชนิด เพื่อต้องการให้เป็นพื้นที่ไข่แดงสำหรับการอยู่อาศัย หากินของสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะพะยูน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับทะเลตรัง

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า เจตนารมณ์ของชาวบ้านและชาวประมงพื้นบ้าน ของอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมมือกันกำหนดเขตอภัยทาน และขอความร่วมมือกับชาวประมงพื้นบ้านว่า จะไม่เอาเครื่องมือจับปลาจับสัตว์น้ำทุกชนิดเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว หรือในแนวทุ่น โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่ไข่แดง เพื่อให้พื้นที่นี้เป็น ที่อยู่อาศัย ของสัตว์ทะเลหายาก เต่าทะเล โลมา พะยูน และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้เติบโตเต็มวัยก่อนออกไปหากิน ทั้งนี้ ตั้งแต่หน้าที่ทำการหน่วย เขตห้ามล่าฯ – บริเวณแหลมจุโหย บริเวณนี้เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนกลุ่มใหญ่ประมาณ 20-40 ตัว และห่างจากจุดนี้ 1 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่บินสำรวจพบพะยูนพบจำนวนมาก ของเกาะลิบง ปกติพะยูนเป็นสัตว์สังคมอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มมีพ่อแม่ลูก ส่วนที่เห็นชัดเจน คือ บริเวณหน้าที่ทำการเขตห้ามล่าแหลมจุโหย เป็นโซนที่สงบไม่มีกิจกรรมการท่องเที่ยว กิจกรรมการประมง อุดมสมบูรณ์ด้วยหญ้าทะเลเหมาะกับการอาศัยของพะยูน ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่บินโดรนพบพะยูนรวมฝูงหากินหญ้าทะเลบริเวณน้ำตื้นอย่างสวยงามนั้น เชื่อว่าการปิดการท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ก็น่าจะมีส่วนให้พะยูนเติบโตและมีจำนวนมากขึ้น เพราะเรือท่องเที่ยวน้อยลง

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวอีกว่า เขตห้ามล่าฯเกาะลิบง เราอยากให้สัตว์ป่าที่หายากอยู่ได้อย่างสงบ และมนุษย์อยู่ร่วมกันได้ จึงจำเป็นต้องแบ่งเขตอย่างชัดเจน อยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่สงบของสัตว์ทะเลอย่างแท้จริง ปลอดเครื่องมือประมง เข้าไปรบกวน เมื่อทะเลสมบูรณ์เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยว ชาวบ้านมีรายได้ ชาวบ้านเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้ เราพยายามวางแนวทุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ 18,000 ไร่ ตอนนี้วางแล้วบริเวณอ่าวทุ่งจีนจำนวน 5,000 ไร่ และครั้งนี้วางอีก 2,000 ไร่ รวมทั้งสิ้น 7,000 ไร่ ในส่วนหญ้าทะเลที่ตายจำนวนมาก เพราะการถูกทับถมของตะกอนดินจากภายนอกนั้น เป็นหญ้าทะเลใบยาว ตอนนี้เริ่มแตกหน่อแล้ว ส่วนหญ้าทะเลใบมะกรูดซึ่งเป็นอาหารของพะยูนมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทางด้านนายสุเทพ ขันชัย ประธานกลุ่มพิทักษ์ดุหยง กล่าวว่า จากการบินสำรวจพบพะยูนจำนวนมากเกิดจากที่เราร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มอนุรักษ์ และ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ ที่กำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ ครั้นจะพึ่งพาจิตสำนึกของชาวบ้านอย่างเดียว คงเป็นไปไม่ได้ โดยส่วนตัวรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นจิตอาสาอนุรักษ์ท้องทะเล ร่วมกันอนุรักษ์ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลประสบความสำเร็จ การอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากไว้ได้อย่างยั่งยืน กรณีพบพะยูนมากขึ้นในทะเลตรัง ทำให้ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้นในการดูแลอนุรักษ์พะยูน รวมทั้ง ตอนนี้เราได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกทางทะเลอาเซียน เราต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาทรัพยากรไว้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน